โควิดพ่นพิษ ซาอุฯ ‘ขึ้นแวต 3 เท่า’
“ซาอุดีอาระเบีย” เผยแผนขึ้นภาษีมูลค่า (แวต) เพิ่ม 3 เท่า ระงับให้เบี้ยยังชีพรายเดือนแก่ประชาชน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรัดเข็มขัดหลังจากราคาน้ำมันต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจดิ่งเหวเพราะไวรัสโคโรนา
สำนักข่าวเอสพีเอของทางการซาอุดีอาระเบียเผยแพร่แถลงการณ์ของ โมฮัมเหม็ด อัล จาดาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ รัฐบาลตัดสินใจระงับเบี้ยยังชีพรายเดือนตั้งแต่เดือนมิ.ย. และเพิ่มแวตจาก 5% เป็น 15% ตั้งแต่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป โดยย้ำว่า รัฐบาลต้องทำเพื่อเพิ่มงบประมาณหลังจากรายได้จากน้ำมันดิ่งลงอย่างหนัก ผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่กดความต้องการน้ำมันดิบของทั่วโลก
นอกจากนี้รัฐบาลยังยกเลิก ยืดเวลา หรือเลื่อนการใช้จ่ายของหน่วยงานรัฐบางแห่ง ลดงบประมาณโครงการตาม “วิสัยทัศน์ 2030” ที่เป็นโครงการปฏิรูปเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจซาอุฯ แทนการพึ่งพาน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว
เอสพีเอระบุด้วยว่า มาตรการเหล่านี้ช่วยเพิ่มเงินคงคลังได้ 2.66 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงที่รัฐบาลต้องเร่งทำแผนฉุกเฉินลดค่าใช้จ่ายเพื่อรับมือกับระเบิดเศรษฐกิจ 2 ลูกซ้อน โดยรัฐมนตรีคลังเพิ่งโยนหินถามทางไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เตือนว่ารัฐบาลต้องใช้มาตรการรุนแรงและเจ็บปวดในการรับมือกับคลื่นกระแทกสองลูกทั้งไวรัสโคโรนาและราคาน้ำมันตกต่ำเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ ซาอุฯ และอีกหลายประเทศในอ่าวเปอร์เซีย เก็บภาษีสินค้าและบริการ 5% เมื่อปี 2561 เพื่อหารายได้เพิ่มเติม แต่ซาอุฯ ยังแจกเบี้ยยังชีพมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากค่าครองชีพสูง
อย่างไรก็ตาม มาตรการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐเหล่านี้ไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดการขาดดุลงบประมาณก้อนโตของซาอุฯ ลงได้ กลุ่มซาอุดีจัดวาอินเวสต์เมนต์เผยว่า ปีนี้ซาอุฯ จะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.12 แสนล้านดอลลาร์
ตั้งแต่ราคาน้ำมันผันผวนรอบล่าสุดเมื่อปี 2557 รัฐบาลริยาดก็ขาดดุลงบประมาณมาทุกปี เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจซาอุฯ จะหดตัว 2.3%
ล่าสุด รมว.คลังเผยว่า ซาอุฯ อาจสูญเสียหายได้จากน้ำมันไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งรายได้ส่วนนี้คิดเป็นราว 70% ของรายได้ประเทศ เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง 2 ใน 3 ตั้งแต่ต้นปี ปีนี้จึงจะกู้เงินเกือบ 6 หมื่นล้านดอลลาร์มาอุดการขาดดุลงบประมาณ
แน่นอนว่ามาตรการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐแบบนี้ย่อมทำให้ประชาชนไม่พอใจ เนื่องจากค่าครองชีพสูงอยู่แล้ว อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการจับตาโครงการใหญ่ของรัฐมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เช่น การเสนอซื้อสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลยูไนเต็ดของอังกฤษ วงเงิน 300 ล้านปอนด์
“ชาวซาอุเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเป็นรูปธรรมจากไวรัส และด้วยความยากลำบากเช่นนี้ประชาชนจะจับตาการใช้จ่ายของรัฐในที่อื่นๆ มากขึ้น รวมถึงการซื้อทีมฟุตบอล และการทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์จัดงานมหกรรมบันเทิงตามแผนสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ” ยัสมิน ฟารุก จากมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศกล่าว
แผนการปฏิรูปเศรษฐกิจแผนอื่นๆ ของ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ก็สุ่มเสี่ยงจากมาตรการรัดเข็มขัด เช่น NEOM โครงการในฝันของเจ้าชายสร้างเมกะซิตีมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์บริเวณชายฝั่งตะวันตกของประเทศ ที่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ส่วนผลกระทบจากไวรัสโคโรนาซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่สุดและเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลกอาหรับเจอศึกหนักไม่แพ้กัน ต้องปิดโรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร ระงับเที่ยวบิน ยกเลิกการแสวงบุญอุมเราะห์เพื่อสกัดการแพร่ระบาด