ทำไม 'คามาลา แฮร์ริส' ไม่ควรออกตัวแรง?
เปิดเหตุผล ทำไม “คามาลา แฮร์ริส” ผู้หญิงผิวดำคนแรกและเป็นคนเชื้อสายอินเดียคนแรก ถึงได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการคู่รองประธานาธิบดีของโจ ไบเดน และเธอมีนโยบายอะไรบ้าง?
ต้องถือว่ามาตามนัด สำหรับ “คามาลา แฮร์ริส” ที่เข้าวินได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการคู่รองประธานาธิบดีของโจ ไบเดน
โดยเธอถือเป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกและคนเชื้อสายอินเดียคนแรก และเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ต่อจากเจอรัลดีน เฟอร์ราโร่ ในปี 1984 และซาร่าห์ พาลิน ในปี 2008 ที่เป็นคู่รอง ปธน.ในการชิงชัยตำแหน่ง ปธน. สหรัฐบทความนี้จะพามารู้จักเธอและนโยบายของเธอ และเพราะเหตุใดไบเดนถึงเลือกเธอเป็นคู่หูในการชิงชัยตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ดังนี้
- ครอบครัวของแฮร์ริสถือเป็นนักต่อสู้ด้านการเมือง โดยคุณแม่ชาวอินเดียที่มาเรียนมหาวิทยาลัยที่แคลิฟอร์เนียเคยเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนาม รวมถึงญาติฝั่งแม่ก็ยังเป็นผู้เคลื่อนไหวด้านการเมืองในอินเดีย ในขณะที่คุณพ่อของเธอเป็นชาวจาไมก้าในอเมริกา โดยทั้งคู่หย่าร้างกันตั้งแต่แฮร์ริสยังเล็กอยู่ ทว่าแฮร์ริสก็เรียนจนด้านกฎหมายและไต่เต้าจนขึ้นมาเป็นอัยการสูงสุดของแคลิฟอร์เนีย รวมถึงดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกของแคลิฟอร์เนีย
- ไบเดนกับแฮร์ริสถือว่าไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน โดยคามาลา แฮร์ริสเป็นเพื่อนลูกชายของไบเดนที่ชื่อว่า โบ ไบเดน ซึ่งเป็นอัยการประจำรัฐเช่นเดียวกับแฮร์ริส โดยโบเพิ่งเสียชีวิตเมื่อ 5 ปีก่อนด้วยโรคมะเร็งในวัย 45 ปี ทั้งนี้ โบ ลูกชายไบเดนเคยกล่าวชมแฮร์ริสว่าเป็นอัยการที่มีความสามารถให้กับไบเดนฟังอยู่บ่อยๆ
- ไบเดน มีสโลแกนในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ถือว่าจับตลาดคนรุ่นใหม่ได้ดี นั่นคือ "เขาจะเป็นสะพานสู่อนาคตสำหรับประเทศสหรัฐให้กับคนรุ่นใหม่สืบทอดต่อ หลังจากที่เขาลงจากตำแหน่ง" ซึ่งแฮร์ริสพร้อมจะเป็นผู้ช่วยสานต่อให้ โดยที่ทั้งคู่ถือเป็นแนว Centre-left ของพรรคเดโมแครต ที่น่าจะสามารถจับเสียงชาวอเมริกันได้ค่อนข้างกว้าง ทั้งนี้ ไบเดนถือว่ามีความเป็น Liberal หรือชอบที่จะให้รัฐบาลมีรายได้มากเข้าไว้เพื่อจ่ายให้กับผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่าในสังคมมากขึ้นกว่าในอดีตค่อนข้างมาก
- ไบเดนแสดงความเป็น "ผู้ใหญ่ใจดี" ไม่ถือสาคำกล่าวหา ที่แฮร์ริสเคยกล่าวโจมตีไบเดนเมื่อปีที่แล้ว ในการชิงชัยเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐกับทรัมป์ โดยที่ไบเดนซึ่งมีคะแนนนำทรัมป์ค่อนข้างมาก ณ ตอนนี้ เลือกแฮร์ริสเป็นคู่หูในการสู้กับทรัมป์ เนื่องจากต้องการทางเลือกที่อย่างน้อยจะไม่ทำให้คะแนนเสียงของตนเองลดลง หรือถือว่าปลอดภัยที่สุด
โดยแม้จะมีทางเลือกที่ดูเก๋ากว่า อย่างทั้งซูซาน ไรส์ ซึ่งเป็นถึงอดีตที่ปรึกษาของอดีตปธน. โอบามา และ คาเรน บาส ที่มีประสบการณ์การเป็นวุฒิสมาชิกอย่างยาวนาน รวมถึงทั้งคู่เป็นผู้หญิงผิวดำอีกด้วย ทว่าไรส์ติดตรงที่มีการสัมภาษณ์ที่ไม่เหมาะสมหลังเหตุการณ์ระเบิดที่เบงกาซี ซึ่งทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตหลายนาย ส่วนบาสมีจุดที่ทรัมป์จะโจมตีได้ตรงที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าชื่นชอบฟิเดล คาสโตร อดีตผู้นำคิวบา ที่เป็นคู่ไม้เบื่อไม้เมาของสหรัฐมาอย่างยาวนาน
- ทั้งนี้ ไบเดนหวังให้แฮร์ริสช่วยกระตุ้นฐานคะแนนเสียงของคนผิวดำและเอเชียให้ออกมาโหวตเหมือนปี 2012 โดยเฉพาะในรัฐที่คะแนนเสียงยังก้ำกึ่งกับโดนัลด์ ทรัมป์ เช่น เพนซิลเวเนีย มิชิแกน วิสคอนซิน และฟลอริดา ซึ่งแฮร์ริสก็น่าจะช่วยเติมเต็มให้กับไบเดนที่มีคะแนนเสียงแน่นสำหรับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา จากการสนับสนุนของบารัก โอบามาอยู่ก่อนหน้าแล้ว
- อีกมุมหนึ่งที่กลายเป็นจุดแข็งของแฮร์ริส คือ เธอเปรียบเป็นเหมือน 2 คนในร่างเดียว โดยในขณะที่เธอขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองหัวก้าวหน้า โดยที่ไม่นิยมโทษการประหารชีวิต เธอก็กลับเอาจริงเอาจังกับการปฏิวัติองค์กรตำรวจและการลงโทษตำรวจผิวขาวที่ทำให้จอร์จ ฟลอยด์เสียชีวิต รวมถึงร่วมเป็นผู้ประท้วงหน้าทำเนียบขาวช่วงต้นปีนี้ เพื่อเรียกร้องให้ความเสมอภาคต่อกับคนผิวดำในสหรัฐ รวมถึงร่วมแก้กฎหมายให้กับคนผิวดำอีกด้วยซึ่งตรงนี้ ยากที่จะทรัมป์จะโจมตีเธอว่าออกซ้ายจัดได้เหมือนอลิซาเบธ วอร์เรน
สำหรับด้านนโยบายหลักในเรื่องต่างๆ นั้น แฮร์ริสมีจุดยืน ดังต่อไปนี้
- ด้านความเท่าเทียมของเชื้อชาติ
แฮร์ริสให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวควรจะมาจากการแก้กฎหมายเป็นตัวตั้ง โดยเธอเสนอการยกเลิกกฎหมายการประหารชีวิต ระบบการปฏิวัติองค์กรตำรวจ ให้การศึกษาแบบฟรีต่อผู้ด้อยโอกาสทางสังคม รวมถึงการยกเลิกการจ่ายเงินเพื่อที่จะพ้นความผิดทางกฎหมาย
- ด้าน Health car
ล่าสุด แฮร์ริสมีมุมมองต่อการประกันสุขภาพที่ไม่เอียงซ้ายมากเหมือนเมื่อปีที่แล้ว โดยจากที่เธอเคยมีนโยบายที่จะยกเลิกบริษัทการประกันสุขภาพเอกชนในระบบการประกันสุขภาพแห่งชาติ ในตอนนี้เธอกลับมาให้ความเห็นที่คล้ายคลึงกับไบเดน โดยยอมให้บริษัทประกันสุขภาพเอกชนเป็นหนึ่งในทางเลือกของชาวอเมริกัน
- ด้านการกำกับบริษัทเอกชน
เช่นเดียวกับ Healthcare แฮร์ริส มีท่าทีที่ค่อนข้างPro Market มากขึ้นกว่าในอดีตค่อนข้างมาก จากเดิมที่เคยเอียงซ้าย ณ ตอนนี้ เธอออกจะมีนโยบายที่ค่อนข้างอะลุ้มอล่วยกับ Start-up ด้านเทคโนโลยีมากจนหลายคนเริ่มมองว่ามากเกินไป อย่างไรก็ดี เธอเห็นด้วยกับการขึ้นภาษีต่อนิติบุคคลภาคเอกชน และ มีนโยบายด้าน Climate Change ที่เข้มข้น
ณ ตอนนี้ สิ่งที่ผมกังวลต่อไบเดนและแฮร์ริสคือ การที่เธอจะออกตัวแรงตั้งแต่ต้น โดยเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่าทรัมป์ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในการรับมือกับโควิดในอเมริกา น่าจะทำให้มีโอกาสสูงที่ทรัมป์จะย้อนกลับมาเล่นเกมการเมืองที่แรงขึ้นมากและออกจะคาบลูกคาบดอก ซึ่งถือว่าจะเข้าทางทรัมป์ที่ออกจะชอบแนวนี้อยู่แล้ว