นักวิเคราะห์ชี้ประท้วงอาจจบด้วย‘รัฐประหาร’
นักวิเคราะห์เผยกับซีเอ็นบีซี หากเกิดความรุนแรงระหว่างนักศึกษากับฝ่ายต่อต้านที่ภักดีกับอำนาจเก่าไทยอาจตกอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารอีกครั้ง
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่นานหลายเดือน ถึงขณะนี้ยังดำเนินไปด้วยความสงบ ข้อเรียกร้องส่วนหนึ่งจากผู้ประท้วงต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก และให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สนใจเส้นตายที่ผู้ประท้วงกำหนดให้เขาลาออก โดยเร็วๆ นี้เริ่มมีกลุ่มจงรักภักดีต่อสถาบันที่เรียกกันว่า “เสื้อเหลือง” จัดประท้วงต่อต้านฝ่ายนักศึกษา
วันพุธสัปดาห์ก่อน (21 ต.ค.) การประท้วงจุดหนึ่งในกรุงเทพฯ กลายเป็นความรุนแรง เมื่อฝ่ายเสื้อเหลืองไม่กี่่คนทำร้ายนักศึกษากลุ่มประท้วงรัฐบาล
นายพอล แชมเบอร์ส อาจารย์และที่ปรึกษาศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร เผยกับรายการ
Squawk Box Asia ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้อาจพัฒนาไปเป็นความขัดแย้งได้ "เผลอๆ อาจเกิดความรุนแรงและอันตรายมาก การประท้วงอย่างสันตินี้กำลังดำเนินต่อไป และพยายามประท้วงต่อ อย่างไรก็ตาม มีผู้ประท้วงฝ่ายขวาบางคน ที่ผมมองว่าพยายามสร้างความรุนแรงขึ้นมา ที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายในท้ายที่สุด หรือแม้แต่ทหารทำรัฐประหาร” นักวิชาการรายนี้กล่าว พร้อมอธิบายว่า หากการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงฝ่ายประชาธิปไตยกับรอยัลลิสต์เพิ่มขึ้น ทหารก็มีเหตุผลสมบูรณ์ในการเข้าแทรกแซง นั่นอาจยุติ “ประชาธิปไตยอำพราง” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ทหารครอบงำการเมืองทางอ้อม และเป็นจุดเริ่มต้นรัฐบาลทหารชุดใหม่ซึ่งพัฒนาการแบบนี้ไม่ได้ทำให้ประเทศสงบ
ซีเอ็นบีซีระบุด้วยว่า การรัฐประหารไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับประเทศไทย ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 โดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ปีก่อนไทยจัดเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร พรรคพลังประชารัฐที่มีทหารหนุนหลังเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ที่เกษียณจากกองทัพแล้วได้รับเลือกจากสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสภาแห่งนี้มี ส.ว.หลายคนแต่งตั้งจากทหารและตำรวจ
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยซบเซาลงมากในปีนี้ แม้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ก็ตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยหดตัว 7.1%