‘ไทก้า’ ช่วย ‘ประเทศเพื่อนบ้าน’ ฝ่าวิกฤติโควิด

‘ไทก้า’ ช่วย ‘ประเทศเพื่อนบ้าน’ ฝ่าวิกฤติโควิด

"เทคโนโลยีดิจิทัล" เป็นหนึ่งในเครื่องมือและช่องทางติดต่อสื่อสาร เพื่อส่งความช่วยเหลือของไทยไปสู่ "ประเทศเพื่อนบ้าน" ได้แก่ เมียนมา - กัมพูชา - ลาว ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่กลายเป็นความท้าทายจากสถานการณ์ปกติ

ภัทรัตน์ หงษ์ทอง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ เล่าว่า ไทก้าดำเนินการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 บนหลักการที่ว่า ไทยมีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร และการระบาดของไวรัสชนิดนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกัน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด ขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างประเทศ 

ไทก้าได้ประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งโฟกัสไปที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 พิจารณาควบคู่ไปกับนโยบายของประเทศ สู่การให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านต้องการ บนพื้นฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วประเทศ แต่ขณะเดียวกันเศรษฐกิจประเทศก็ยังต้องการพึ่งพาต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับไทย เพื่อให้สามารถประคองตนเอง ผ่านวิกฤติไวรัสผ่านพ้นผลกระทบที่จะตามมาไปได้ด้วยกัน 

161001650782

การให้ความช่วยเหลือของไทยแม้จะมีต่อประเทศผู้รับต่าง ๆ ทั่วโลก แต่มุ่งเน้นไปที่เมียนมา ลาว กัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านเปรียบหัวใจสำคัญของไทยในเชิงการต่างประเทศ เกิดเหตุการณ์ใดๆ  กับประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมส่งผลต่อไทย ถ้าพวกเขามีความมั่งคง และมั่งคั่งย่อมส่งผลดีอย่างยั่งยืนกับเรา รวมถึงในเชิงเศรษฐกิจและติดต่อการค้าระหว่างกัน" ภัทรัตน์กล่าว

ไทก้าได้พูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน และประสานให้ความช่วยเหลือกับประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ก่อนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะรุนแรง พบว่า แต่ละประเทศ ต่างมีปัญหาด้านสาธารณสุข และต้องการให้ไทยเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในเมียนมาที่มีการแพร่ระบาดค่อนข้างรุนแรง 

ทางไทก้าได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ทั้งกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ และมีกิจกรรมร่วมกันมาโดยตลอด ทั้งการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วน การถ่ายทอดองค์ความร่วมผ่านการทำ Medical Consultation หรือการให้คำปรึกษาทางการแพทย์แก่บุคลากรทางการแพทย์ของเมียนมา ได้แก่ การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก แนวทางการรักษาคนไข้โรค COVID-19 การใช้อุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยล่าสุด ไทก้าร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ระหว่างการช่วยฝ่ายเมียนมาพัฒนารูปแบบห้องปฏิบัติการที่สามารถใช้ได้จริง มีประสิทธิภาพสูง และใช้งบประมาณไม่มาก โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการ (แล็ป) เป็นการให้ความช่วยเหลือระยะยาว เพื่อเพิ่มศักยภาพการตรวจเชื้อของห้องแล็ปทั้งตามชายแดน และเมืองหลวง 

161001653376

ภัทรัตน์ ชี้ว่า ไทก้าได้ดำเนินโครงการสร้างความตระหนักรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่โดยมุ่งเน้นแนวชายแดนไทย - กัมพูชา - ลาว – เมียนมา ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยการสร้างโมเดลความร่วมมือที่สามารถขยายขอบข่ายคลอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งชุมชนชาวไทย แรงงานข้ามชาติ และชุมชนชายแดนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เป็นการทำงานเชิงรุก และการตอบโจทย์ความจำเป็นเร่งด่วน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทิลเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแนวการดำเนินงานการทูตเพื่อการพัฒนาตามวิถีใหม่ ได้แก่ 

1.การประสานนโยบายระดับจังหวัด ผ่านการประชุมทางไกล อาทิ การประชุมคณะกรรมการความร่วมมือจังหวัดคู่ขนาน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19

2.การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยการจัดการให้คำปรึกษาระหว่างสำนักงานสาธารณสุข และโรงพยาบาล ระดับอำเภอของจังหวัดคู่ขนาน (Sister Hospital) 

3.การจัดการอบรมทางออนไลน์ มีขึ้นตั้งแต่ มิ.ย. - ธ.ค. 2563 จำนวน 4 หลักสูตรให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้านสาธารณสุขประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ในสาขาต่างๆ ได้แก่ การวางระบบศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน และการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการแพทย์ เช่น การดูแลผู้ป่วยวิกฤติและผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีองค์ความรู้และความพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทาง ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.การจัดการความรู้ (Knowledge Management) ตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ปัจจุบันผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ (TICA's Knowledge Bank on Covid-19) ทั้งด้านสาธารณสุขและทางการแพทย์ โดยเนื้อหาเป็นการรวบรวมจากการฝึกอบรมออนไลน์ และการสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของไทย โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้ามารับชมผ่านทางยูทูป และรับฟังทางพอดแคสต์

161001657159

นอกจากนี้ ไทยยังได้สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วน มุ่งเน้นไปที่เมียนมา เช่น การจัดส่งชุด PPE ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ การตรวจรักษาโรคแบบ Coverall และอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ หน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้น เครื่องตรวจวิเคราะห์ก๊าซในเลือดแดง ยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 70,000 เม็ด เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด และกำลังจัดส่งเพิ่มเติม ได้แก่ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ เครื่อง RT-PCR และการวางระบบการป้องกัน ติดตาม สอบสวนโรคในปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการจัดส่งอุปกรณ์เพื่อให้การสนับสนุนลาว และกัมพูชาเพิ่มเติม 

ในตอนท้าย อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เป็นแนวทางเดียวกับการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ที่ไทยใช้อยู่ ซึ่งได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถ มาประยุทกต์ใช้ในการรับมือและจัดการโรคโควิด-19 มุ่งเน้น “แนวทางประหยัดเรียบง่าย ใช้ประโยชน์สูงสุด และการมีส่วนร่วม” เพื่อความทั่วถึงและเท่าเทียมของประชาชน