'ญี่ปุ่น' ตัดสินใจทิ้งน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ 'บำบัดแล้ว' ลงทะเล
"ญี่ปุ่น" ตัดสินใจทิ้งน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านบำบัดแล้ว ลงทะเล มั่นใจไม่กระทบสิ่งแวดล้อม โดยที่สหรัฐออกโรงหนุน เชื่อญี่ปุ่นตรวจสอบแล้ว
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจอย่างเป็นทางการในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเล เนื่องจากมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นายโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงนายฮิโรชิ คาจายามะ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่จะตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายว่าจะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเล แม้ประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น เช่น จีนและเกาหลีใต้ รวมทั้งอุตสาหกรรมประมงของญี่ปุ่นเอง ได้ออกมาคัดค้านเรื่องดังกล่าว
นายซูกะกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่อาจเลื่อนแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล และรัฐบาลจะออกคำชี้แจงโดยมีเหตุผลสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ต่อทุกฝ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะประกาศการตัดสินใจดังกล่าวในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว หลังจากที่มีการถกเถียงในเรื่องนี้นานกว่า 7 ปี แต่ก็เลื่อนการตัดสินใจออกไปเพื่อให้มีเวลาสำหรับการหารือมากขึ้น
ทางการญี่ปุ่นระบุว่า การทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เพียงเล็กน้อย และบริษัทโตเกียว อิเลกทริก พาวเวอร์ (TEPCO) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จำเป็นต้องทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล เนื่องจากทางบริษัทขาดแคลนสถานที่ในการกักเก็บน้ำที่ผ่านการบำบัดดังกล่าว
ทั้งนี้ TEPCO ได้กักเก็บน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมากกว่า 1 ล้านตันจากท่อหล่อเย็นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ นับตั้งแต่ที่ประสบความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2554 และทางบริษัทจะไม่มีสถานที่ในการกักเก็บน้ำบำบัดดังกล่าวภายในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ว่า สหรัฐสนับสนุนการตัดสินใจของญี่ปุ่น และเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นได้ทำการทดสอบทางเลือกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดน้ำแล้ว นอกจากนี้ สหรัฐยังมองว่า การตัดสินใจของญี่ปุ่นในครั้งนี้มีความโปร่งใส และเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ที่ปฏิบัติกันทั่วโลก