อัพเดตโควิดกลายพันธุ์ รู้จัก ‘มิว’ โควิดสายพันธุ์น้องใหม่
องค์การอนามัยโลกกำลังจับตา “มิว” โควิดที่น่าสนใจสายพันธุ์ใหม่ พบครั้งแรกเมื่อต้นปีที่โคลอมเบีย
เว็บไซต์เอบีซีของออสเตรเลียรายงานว่า โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า “มิว” พบครั้งแรกที่โคลอมเบียเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และมีรายงานพบการระบาดเป็นระยะๆ ในหลายพื้นที่ของอเมริกาใต้และยุโรป แต่ยังไม่พบมากเท่าสายพันธุ์เดลตา
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ทั่วโลกยังมีผู้ติดเชื้อในสัดส่วนเล็กน้อย นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่ามีคุณสมบัติต้านทานภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนหรือติดเชื้อและหายแล้วหรือไม่
สายพันธุ์มิวมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าB.1.621 ขณะนี้ถูกดับเบิลยูเอชโอจัดให้เป็น 1 ใน 5 สายพันธุ์ที่น่าสนใจ ซึ่งหมายความว่าแม้จะน่าจับตาเป็นพิเศษ แต่เป็นไปได้ว่ามีปัญหาน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาหรืออัลฟา ที่ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล
มิวเป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจสายพันธ์ุแรกถัดจากสายพันธุ์แลมบ์ดา ที่ดับเบิลยูเอชโอขึ้นบัญชีเมื่อเดือน มิ.ย. รายงานระบาดวิทยาฉบับล่าสุดของดับเบิลยูเอชโอระบุว่า มิวมีการกลายพันธุ์ที่บ่งชี้ว่าอาจมีคุณสมบัติหลุดรอดภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม
นายพอล กริฟฟิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากองค์กรไม่แสวงหากำไร “เมเทอร์ เฮลธ์ เซอร์วิส” และมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญมักจะมองหาสายพันธุ์กลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนามที่ทำให้คนฉีดวัคซีนแล้วก็ติดเชื้อได้ง่าย
“ถ้าโปรตีนหนามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ก็แน่นอนว่าวัคซีนที่เรามีอาจป้องกันได้น้อยลง ซึ่งจะเป็นแบบนั้นได้ต้องใช้เวลาสักระยะ ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น” นักวิชาการกล่าว
ดับเบิลยูเอชโอย้ำกว่า ต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของสายพันธุ์มิว ขณะที่นายกริฟฟินกล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานชี้ว่ามิวเป็นสายพันธุ์ที่หลุดรอดภูมิคุ้มกันไปได้
สำหรับความชุกของการติดเชื้อทั่วโลก นับตั้งแต่ตรวจพบครั้งแรกก็พบสายพันธุ์นี้น้อยลง ปัจจุบันทั่วโลกอยู่ที่ไม่ถึง 0.1% แต่ความชุกในโคลอมเบียที่ 39% และเอกวาดอร์ 13% ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีรายงานการระบาดในหลายพื้นที่ของสหรัฐและยุโรป
สำหรับโควิดกลายพันธุ์ทั้ง 9 สายพันธุ์ที่ถูกดับเบิลยูเอชโอขึ้นบัญชีเป็นสายพันธุ์น่าสนใจ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ (1) เอตา พบครั้งแรกในหลายประเทศเมื่อเดือน ธ.ค.2563 (2) ไอโอตา พบครั้งแรกที่สหรัฐ เมื่อเดือน พ.ย.2563 (3) คัปปา พบครั้งแรกในอินเดียเมื่อ ต.ค.2563 (4) แลมป์ดา พบครั้งแรกในเปรู เมื่อเดือน ธ.ค.2563 (5) มิว พบครั้งแรกในโคลอมเบีย เมื่อ ม.ค.2564
ส่วนสายพันธุ์ที่น่ากังวล 4 สายพันธ์ุ ได้แก่ (1) อัลฟา พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เมื่อก.ย.2563 (2) เบตา พบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ เมื่อ พ.ค.2563 (3) แกมมา พบครั้งแรกในบราซิล เมื่อ พ.ย.2563 (4) เดลตา พบครั้งแรกในอินเดีย เมื่อ ต.ค.2563
ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อเวลาผ่านไปไวรัสกระจายไปมากก็มีโอกาสกลายพันธุ์มาก นายกริฟฟินกล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดในการจำกัดการกลายพันธุ์ของไวรัสคือการจำกัดการกระจายด้วยการฉีดวัคซีนให้มากขึ้นเพื่อลดโอกาสการที่ไวรัสจะมีชีวิตรอดในร่างกาย