ศึกษา "เพื่อนบ้าน" เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หมุดหมายอยู่ร่วมกับโควิด-19
ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีไทยจะเผยแผนเปิดประเทศได้ไม่กี่วัน เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียต่างประกาศแผนการของตนเองไปก่อน ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์จากโควิด-19 เป็นศูนย์สู่การอยู่ร่วมกับไวรัสตัวนี้ให้ได้
เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นรายงาน นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบของมาเลเซีย แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (10 ต.ค.) ตั้งแต่วันจันทร์ (11 ต.ค.) มาเลเซียจะยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางในประเทศและระหว่างประเทศสำหรับประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว หลังจากทางการฉีดวัคซีนได้ทะลุเป้า 90% ของประชากรวัยผู้ใหญ่
ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน สิงคโปร์เพิ่ม 8 ประเทศเข้าในกลุ่มเดินทางไม่ต้องกักตัว (วีทีแอล) ถือเป็นการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่สิงคโปร์ปิดพรมแดนในเดือน มี.ค.2563
ปีนี้ ทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียต้องต่อกรกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสายพันธุ์เดลตาที่ติดต่อกันได้ง่ายกว่า ทั้งสองประเทศจึงใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างแข็งกร้าว ด้วยการล็อกดาวน์และปิดพรมแดนเข้มงวด
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่ต่างต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและเปิดดำเนินการธุรกิจในประเทศ สิงคโปร์และมาเลเซียกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิบัติกับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น โดยใช้วิธีฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้โรคเกิดขึ้นใหม่ แทนการควบคุมชีวิตพลเมือง แม้ว่ายังมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตต่อเนื่องก็ตาม
นอกจากนี้แผนการยังสะท้อนแนวทาง “ใช้ชีวิตร่วมกับโควิด” ที่ตะวันตกหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร และหลายพื้นที่ในสหรัฐนำมาใช้ ซึ่งชีวิตผู้คนส่วนใหญ่กลับมาเป็นปกติแล้ว
มาเลเซีย
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในมาเลเซียเริ่มพุ่งขึ้นเมื่อต้นปี 2564 รัฐบาลจำต้องล็อกดาวน์อีกรอบทั้งๆ ที่เพิ่งยกเลิกไปเมื่อเดือน ธ.ค. ล่วงเข้าเดือน มิ.ย. ผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสายพันธุ์เดลตา
แม้ล็อกดาวน์ทั้งประเทศแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดในเดือน ส.ค. วันละเป็นแสนราย
ประชาชนที่ถูกจำกัดเสรีภาพอยู่แล้วจึงไม่พอใจขนาดหนัก พากันประท้วงต่อต้านการจัดการโควิดของรัฐบาลในเดือน ก.ค. ต่อมานายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซินต้องลาออก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความแค้นเคืองของประชาชน
คำประกาศของนายกฯ ยาคอบเมื่อวันอาทิตย์แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญของมาเลเซียจากยุทธศาสตร์ก่อนหน้านี้ อันเป็นผลพวงจากการฉีดวัคซีนได้ก้าวหน้ามาก ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ชี้ว่า ราว 8 เดือนนับจากเริ่มฉีด ประชากรกว่า 66% จาก 32 ล้านคนฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว
“เราต้องฝึกตัวเองให้ใช้ชีวิตร่วมกับโควิด เพราะโควิดหายไม่หายไปไหน” นายกฯ ยาคอบกล่าวและว่า มาเลเซียจะไม่ล็อกดาวน์เป็นวงกว้างอีกหากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
การผ่อนคลายข้อจำกัดหมายความว่า ชาวมาเลเซียที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จากก่อนหน้านี้ที่การเดินทางส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อทำธุรกิจ ติดต่อราชการ หรือกรณีเร่งด่วนเท่านั้น ส่วนการเดินทางในประเทศยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทางระหว่าง 13 รัฐ
สิงคโปร์
สิงคโปร์ยังเดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์ใช้ชีวิตร่วมกับโควิด แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันและยอดเสียชีวิตสูงขึ้นมากเนื่องจากสายพันธุ์เดลตา
เมื่อวันเสาร์ (9 ต.ค.) สิงคโปร์ที่มีประชากร 5.45 ล้านคน รายงานผู้ติดเชื้อรายวัน 3,703 คน เสียชีวิต 11 คน แต่วันเดียวกันนั้นสิงคโปร์ก็ตัดสินใจเดินหน้าโครงการเดินทางไม่กักตัว (วีทีแอล) เริ่มต้นในวันที่ 19 ต.ค.นักเดินทางจาก 11 ประเทศ รวมถึงสหรัฐและสหราชอาณาจักรเข้าสิงคโปร์ได้ไม่ต้องกักตัว
ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียของบรรษัทข้ามชาติหลายแห่ง ผู้บริหารจะเข้าออกได้ก็ต้องอาศัยสิงคโปร์ผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทาง
นายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง กล่าวกับประชาชนว่า สิงคโปร์ไม่สามารถ “ล็อกดาวน์และปิดประเทศได้ตลอดไป” การตกงาน พลัดพรากจากครอบครัว ปิดธุรกิจ เป็นเหตุให้เกิด“ความตึงเครียดทั้งร่างกายและอารมณ์ รวมถึงจิตใจอ่อนล้า”
นายกฯ สิงคโปร์กล่าวด้วยว่า จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน เผลอๆ อาจถึง 6 เดือน กว่าจะใช้ชีวิตได้แบบปลอดข้อจำกัด และกล่าวเป็นนัยว่าหากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็อาจล็อกดาวน์อีก ซึ่งแตกต่างจากมาเลเซีย
“หลังจากการติดเชื้อทรงตัวแล้ว ในอนาคตเราอาจเห็นจำนวนพุ่งขึ้นได้อีก โดยเฉพาะเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เราอาจต้องแตะเบรกอีกครั้งถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป เพื่อดูแลระบบสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข” นายกฯ ลีเผย
อย่างไรก็ตามขณะที่สิงคโปร์บอกว่าต้องการเปลี่ยนไปใช้โมเดลปฏิบัติกับโควิด-19 เหมือนเป็นโรคประจำถิ่นในเดือน พ.ค. แต่การพุ่งขึ้นของสายพันธุ์เดลตาทำให้แผนการนี้ตกอยู่ในความเสี่ยง แม้ว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก ประชากรกว่า 80% ฉีดครบโดสแล้ว
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. สิงคโปร์ออกข้อจำกัดในท้องถิ่นอีกครั้งเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด มาตรการเข้มงวดขึ้น เช่น จำกัดผู้คนพบปะกันได้ไม่เกิน 2 คน และระงับการเรียนการสอนสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี หรือย้ายไปเรียนออนไลน์ ความเคลื่อนไหวนี้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน
เอเชีย-แปซิฟิกเดินหน้าอยู่กับโควิด
รัฐบาลเวียดนามแถลงเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ว่า มีแผนเปิดแหล่งท่องที่ยวสำคัญให้กับนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศเสี่ยงโควิดต่ำตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้ ก่อนจะเปิดเต็มตัวตั้งเป้าไว้ในเดือน มิ.ย.2565
ขณะเดียวกันอินโดนีเซียก็เปิดสถานที่สาธารณะแล้ว อนุญาตให้โรงงานกลับมาปฏิบัติการได้เต็มรูปแบบอีกครั้ง นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ เช่น จีน นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ได้รับอนุญาตให้เข้ามาเที่ยวเกาะบาหลีได้ภายในวันที่ 14 ต.ค. แต่นักเดินทางต้องกักตัว 8 วันเสียค่าใช้จ่ายเอง
เมื่อวันจันทร์ (11 ต.ค.) ซิดนีย์ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดที่ใช้สกัดสายพันธุ์เดลตามาตั้งแต่เดือน มิ.ย. ขณะนี้ชาวซิดนีย์ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว คิดเป็นราว 70% ของประชากรผู้ใหญ่สามารถเข้าร้านอาหาร บาร์ และยิมได้อีกครั้ง สมาชิกครอบครัวมาเจอกันได้แล้วหลังจากที่่ไปมาหาสู่กันไม่ได้มานานหลายเดือน