เปิดเหตุผลผู้สร้างคริปโทเคอร์เรนซีไม่อยากเผยตัวตน

เปิดเหตุผลผู้สร้างคริปโทเคอร์เรนซีไม่อยากเผยตัวตน

เพื่อนสองคนที่คบหากันมานานไม่เคยหิวแสง แต่เมื่อพวกเขาสร้างอาณาจักรหลายล้านดอลลาร์ขึ้นมาขายงานดิจิทัล ผู้คนก็อยากรู้จักว่าพวกเขาเป็นใคร

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า เจ้าของนามสมมติ “Gargamel” และ“Gordon Goner” สร้าง“Bored Ape Yacht Club” คอลเลกชันการ์ตูนลิง 10,000 ตัวในเสื้อผ้าและทรงผมหลากสไตล์ ขายในรูปของเหรียญดิจิทัล (เอ็นเอฟที) ตอนนี้หาซื้อในราคาต่ำกว่า 280,000 ดอลลาร์แทบไม่ได้เลยส่วนหนึ่งมาจากความนิยมในหมู่เซเลบริตีตั้งแต่ปารีส ฮิลตันไปจนถึงเซเรนา วิลเลียมส์

ไม่กี่วันก่อน บัซฟีด เว็บไซต์ข่าวสหรัฐตามแกะรอยได้บางอย่างแล้วเปิดโปงตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา จุดประกายความเดือดดาลในหมู่แฟนคลับบนโซเชียลมีเดีย

ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งกล่าวว่า การเปิดเผยอัตลักษณ์โดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจสร้างความเสี่ยงให้พวกเขา เรื่องนี้ทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องการไม่เปิดเผยตัวตนในโลกคริปโทเคอร์เรนซีอีกครั้ง

ขณะเดียวกันแม้ผู้สร้าง“Bored Apes” อาจอยากซ่อนตัวในโลกคริปโทเคอร์เรนนซี พวกเขาเป็นเจ้าของธุรกิจชื่อว่า Yuga Labs ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตามกฎปกติของการจดทะเบียน รวมถึงให้ชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์

“การใช้ชื่อปลอมไม่ได้ทำให้คุณนิรนาม” อเล็กซานเดอร์ สแตชเทนโค ผู้เชี่ยวชาญด้านคริปโทเคอร์เรนซีบริษัท เคพีเอ็มจี กล่าว

เสี่ยงถูกปล้น

ยังไม่แน่ชัดว่าทำไมผู้ก่อตั้ง Bored Apes ถึงต้องการเป็นบุคคลนิรนามต่อไป พวกเขาเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งโดยใช้ชื่อปลอม

นักวิจารณ์ กล่าวว่า ใครก็ตามที่ทำเงินได้จากเอ็นเอฟที ต้องฉลาดที่จะปกปิดตัวตนเพราะสิ่งที่เขาขายนั้นไร้ค่า กระนั้นแฟนๆ ก็สนุกกับการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่การเป็นเจ้าของเอ็นเอฟทีบ่อยครั้งเป็นประตูเบิกทางไปสู่เกมและสิทธิพิเศษอื่นๆ

ไม่ว่าจะเลือกทางใด ใครก็ตามที่ร่ำรวยจากด้านนี้ย่อมมีเหตุผลชัดเจนที่จะปกปิดตัวตน

“ผมไม่อยากให้คนในโลกคริปโทเคอร์เรนซี รู้ว่าผมเป็นใคร หน้าตา พื้นเพ เป็นไง ผมไม่อยากเสี่ยงให้คนมาปล้นหรือคุกคามครอบครัว” ผู้สร้างคนหนึ่งนาม“Owl of Moistness” ให้เหตุผล

เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Yield Guild Games สตาร์ทอัพเน้นวิดีโอเกมเอ็นเอฟทีในฟิลิปปินส์ ที่ประชากรทุกกลุ่มคลั่งไคล้เอ็นเอฟทีมาก

Owl of Moistness ชี้ว่า บล็อกเชน เทคโนโลยีที่ค้ำจุนคริปโทเคอร์เรนซีและเอ็นเอฟที เป็นบัญชีแยกประเภทที่ใครๆ สามารถตามรอยธุรกรรมได้

ดังนั้น การเชื่อมโยงคริปโทเคอร์เรนซีของเขากับตัวตนในโลกจริง อาจเปิดให้ใครๆ ล่วงรู้ถึงความมั่งคั่ง แต่ยิ่งโครงการใหญ่เท่าใด การไม่ให้คนรู้จักยิ่งซับซ้อนมากเท่านั้น

“มันจะยุ่งยากมากขึ้นเมื่อคุณขยายทีมงาน” ซูนา อัมฮาซ แห่งโวลต์แคปิตอล กองทุนเน้นลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีให้ความเห็น

วิธียอดนิยมวิธีหนึ่งในการคงความนิรนามในโลกคริปโทเคอร์เรนซีคือ ตั้ง DAO (องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์) ที่เปิดให้ผู้คนร่วมมือ และกระทำการเหมือนบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมือนผู้ถือหุ้น แต่ไม่มีสถานะทางกฎหมายอย่างเป็นทางการหรือระบุชื่อเจ้าของ

ใครก็ตามที่ได้กำไรยังจำเป็นต้องเสียภาษี แต่ว่ากันว่าการเชื่อมโยงบุคคลในโลกจริงกับบริษัทเหล่านี้ต้องใช้ลูกเล่นมากกว่าการค้นหาข้อมูลสาธารณะเพื่อเปิดโปงผู้ก่อตั้ง Bored Apes

โมเดลนี้ใช้กับผู้ประกอบการไม่เปิดเผยตัวตนได้ด้วย ตั้งแต่ “Zeus” ผู้สร้างคริปโทเคอร์เรนซี “โอลิมปัส” ไปจนถึง“Code Monkey” ผู้ก่อตั้งคริปโทเคอร์เรนซี Port Finance

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ของบริษัทเชนาไลสิส ระบุว่า คนจำนวนมากใช้การไม่เปิดเผยตัวตนเพื่อวัตถุประสงค์ชั่วร้าย เดเอโอ และบริษัทกระจายศูนย์กลางอื่นๆ เสี่ยงกับการฉ้อโกงเป็นพิเศษตัวอย่างเช่น ดีเอโอที่ชื่ออะนูบิส ก่อตั้งโดยกลุ่มโปรแกรมเมอร์ผู้ใช้นามแฝงเมื่อเดือน ต.ค.2564 ไม่มีอะไรมากไปกว่าบัญชีทวิตเตอร์และโลโก้ เปิดตัวได้ไม่ถึงวันก็หายไปเลย เชิดเงินนักลงทุนไปเกือบ 60 ล้านดอลลาร์

และดูเหมือนว่าการไม่เปิดเผยตัวตนในโลกคริปโทเคอร์เรนซี กำลังเจอกระแสตีกลับ แพลตฟอร์มซื้อขายรายใหญ่ส่วนใหญ่ตอนนี้กำหนดให้ต้องตรวจสอบตัวตนเพื่อป้องกันการฉ้อโกง

แต่ ซูนา อาห์มาซ เชื่อว่า การทำดีเอโอยังมีข้อดีเพราะถูกกำกับโดยบล็อกเชน ทุกคนสามารถติดตามธุรกิจของดีเอโอหนึ่งๆ ได้ว่าถูกกฎหมายหรือต้องสงสัย ข้อได้เปรียบสำคัญอีกประการหนึ่งคือ

“ถ้าคุณใช้นามแฝงก็ไม่สำคัญถ้าคุณไม่ได้เข้าโรงเรียนที่ถูกต้อง ก็แค่งานและชื่อเสียงของคุณที่กำลังถูกประเมิน และนั่นคือ หนทางหนึ่งที่ยุติธรรมที่สุดในการประเมินใครสักคน”

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์