แค่ระงับกฎหมาย GMO ยังไม่พอ
นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า กฎหมาย “จีเอ็มโอ”
ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว ยังไม่เหมาะสม เพราะการผลิตอาหารด้วยวิธีตัดแต่งพันธุกรรมอย่างนี้ เขาใช้ในยามสงครามเท่านั้น
นายกฯบอกว่า ต้องรอให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ประเทศไทยจึงจะพิจารณาเรื่องนี้ และหวังว่าจะไม่เกิดสงคราม
เหตุผลนี้ฟังดูค่อนข้างแปลกและมาใหม่ แม้แต่สำหรับคนที่ปักหลักคัดค้านเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ก็คงจะงุนงงพอสมควร
จึงน่าสงสัยว่า ระหว่างที่ครม. พิจารณาร่างนี้ มีทั้งกระทรวงที่นำเสนอและกระทรวงที่คัดค้าน เหตุผลอะไรทำให้มีการอนุมัติให้ผ่านที่ประชุมได้
แต่เมื่อนายกฯ รับฟังความเห็นคัดค้าน และสรุปว่าจะต้องให้ “พัก” เรื่องนี้ไว้ก่อน ก็แสดงว่า ผู้นำประเทศรับฟังความเห็นที่แตกต่าง
หากความเห็นอีกด้านหนึ่งได้เข้าสู่การประชุมครม. ตั้งแต่ต้น ก็คงจะไม่มีการเดินหน้าและถอยหลังในลักษณะนี้
แต่เรื่อง “จีเอ็มโอ” ไม่ได้ยุติเพียงนี้ เพราะยังจะต้องมีความพยายามจากกลุ่มธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และบุคคลที่วิ่งเต้นเพื่อให้ผ่านให้ได้ เพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจมีมหาศาล
มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) เกาะติดและวิจัยเรื่องนี้มาช้านาน ได้แสดงความชื่นชมการตัดสินใจของนายกฯ ซึ่งเท่ากับรับฟังความเห็นจากความเคลื่อนไหวคัดค้านพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพของภาคประชาชนและผู้ประกอบการเกษตรและอาหาร 125 องค์กร การเคลื่อนไหวของประชาชนและองค์กรท้องถิ่นใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ
แถลงการณ์ของ BIOTHAI อ้างถึงการรวมตัวกันรณรงค์ในสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มนักวิชาการด้านการเกษตร กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ได้แสดงออกเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายร่วมกันอย่างเข้มแข็ง จนนายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุติการผลักดันพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว โดยมีมติให้ส่งเรื่องกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาในมุมที่มีข้อทักท้วงเพิ่มเติมให้รอบคอบเสียก่อน
แต่แรงผลักดันหลักเพื่อให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอมาจากกลุ่มบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ อุตสาหกรรมวัตถุดิบอาหารสัตว์ และบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่
ซึ่งแน่นอนว่า คงไม่ลดความพยายามผลักดันจนกว่าจะบรรลุผล
กลุ่มผลประโยชน์จากจีเอ็มโอคงหาช่องทางอื่นๆ เช่น การผลักดันให้มีการทดลองจีเอ็มโอผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 25 ธันวาคม 2550
และอย่าได้แปลกใจหากจะมีการวิ่งเต้น ให้ไทยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ Trans Pacific Partnership (TPP) ที่มีสหรัฐและญี่ปุ่นเป็นแกนนำสำคัญ และที่รัฐบาลไทยได้ “แสดงความสนใจ” จะเข้าร่วมด้วย
กลุ่มต่อต้านบอกว่า เป้าหมายของการขับเคลื่อนไม่ได้อยู่ที่ การหยุดพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพที่เอื้ออำนวยต่อบรรษัท หรือการต่อต้านจีเอ็มโอซึ่งไม่เป็นประโยชน์และไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเท่านั้น
แต่จะเดินหน้าผลักดันให้มีกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครองและส่งเสริม “ความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ และระบบอาหารเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมระหว่างเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ให้กลายเป็นกระแสหลักของการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รออยู่เบื้องหน้า”
อย่างหลังนี้คือหัวใจของการสร้างให้เกิดพลังร่วมกันของการเกษตรของประเทศ ที่ต้องเป็นแนวนโยบายสำคัญของการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย
การจะให้ประเทศไทยเป็น “ครัวโลก” จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการเอาจริงเอาจังกับการสร้างความเข้มแข็ง ให้กับเกษตรกรของไทยอย่างยั่งยืนเช่นว่านี้เลย