Aerotropolis: โอกาสของประเทศไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือนนครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในอดีตเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว
ภาพของเมืองเจิ้งโจวแห่งนี้ยังเป็นเพียงพื้นที่ราบสำหรับทำการเกษตรกรรม เนื่องจากอยู่ติดริมแม่น้ำเหลือง และไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดัง ภาพของเจิ้งโจวในวันนี้ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางทางด้านการคมนาคมของประเทศ ด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลกลางของจีน ซึ่งต้องการกระจายความเจริญจากเมืองริมฝั่งมหาสมุทรทางด้านตะวันออกเช่น ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้เข้าไปสู่มณฑลทางตะวันตก หรือ “นโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก” (Go West Policy) จึงได้กำหนดให้เจิ้งโจวเป็นศูนย์กลางการคมนาคม วางแผนให้เจิ้งโจวเป็นชุมทางรถไฟความเร็วสูง และมีแผนการขยายสนามบินให้มีถึง 5 รันเวย์ เขตเศรษฐกิจท่าอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economy Zone : ZAEZ) ซึ่งมีขนาดถึง 415 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยานแห่งแรกที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง
ในอดีต เมืองที่สามารถพัฒนาได้รวดเร็วมักจะเป็นเมืองท่าที่อยู่ติดทะเล เพราะสามารถขนส่งสินค้ากับต่างประเทศได้สะดวก ในขณะที่เมืองซึ่งอยู่ลึกในแผ่นดินเข้ามาก็จะมีฐานะที่ยากจนกว่า ทว่าความก้าวหน้าของการคมนาคมทางอากาศได้ก่อให้เกิดโมเดลการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “มหานครการบิน” (Aerotropolis)
ในการไปนครเจิ้งโจวครั้งนี้ ผู้เขียนได้พูดคุยกับ Dr. John D. Kasarda ผู้ที่เสนอแนวคิด Aerotropolis ด้วยการเปลี่ยน “สนามบิน” ให้กลายเป็น “ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ” ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการกล่าวถึงในวงกว้างและนิตยสารTime ยกให้เป็น 1 ใน 10 แนวคิดที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ผู้เขียนเห็นว่าโมเดลนี้มีความน่าสนใจเพราะเป็นโมเดลพัฒนามหานครที่มีสนามบินเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา วางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วางระบบผังเมืองและระบบเศรษฐกิจคล้ายกับการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ และกระจายการพัฒนาไปยังพื้นที่โดยรอบ
หัวใจของโมเดลมหานครการบินนี้ คือการขนส่งคนและสินค้าที่มีมูลค่าสูง (high value passengers and goods) ซึ่งทำโดยเครื่องบิน (หรือทางจรวดถ้า Elon Musk ทำสำเร็จ) การขนส่งคนในที่นี้หมายรวมถึงทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ซึ่งในอดีตทางหลักเศรษฐศาสตร์ เรารู้จักคุ้นเคยกับคำว่า Economy of Scale และ Economy of Scope แต่ในปัจจุบันอีกเรื่องที่ทวีความสำคัญขึ้นอย่างมากคือ เรื่อง Economy of Speed ความสำเร็จทางธุรกิจขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในทุกๆ ด้าน ซึ่งความได้เปรียบจากเรื่องความเร็วนี้ ทำให้การจัดการของธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นคือสาเหตุว่าทำไมโมเดลนี้จึงให้ความสำคัญกับการขนส่งทางอากาศเป็นหลัก
Aerotropolis ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ประการสำคัญ ได้แก่ 1) ศูนย์กลางการคมนาคม (logistics hub) 2) กลุ่มอุตสาหกรรม (industrial clusters) และ 3) การพัฒนาย่านที่อยู่อาศัย (urban planning)
ศูนย์กลางการคมนาคม ซึ่งมีสนามบินเป็นโครงข่ายหลักที่สามารถเชื่อมกับการคมนาคมในรูปแบบอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ (seamless connectivity) ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง รถไฟระหว่างเมือง รถไฟใต้ดิน ถนน และท่าเรือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ลดเวลาของการเดินทางของนักธุรกิจให้มากที่สุด ลดเวลาในการขนส่งสินค้าและทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของภาคธุรกิจต่ำลงอีกด้วย
การสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญในการทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านการวิจัย การเติบโตของห่วงโซ่อุปทาน การขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรม สำหรับการลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เขตอุตสาหกรรมอาจจะประกอบไปด้วยศูนย์วิจัยและพัฒนา เขตประกอบการเสรี (Free Trade Zone) คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) ซึ่งเป็นจุดหรือศูนย์รวบรวมสินค้าที่ได้รับมอบหมายจากศุลกากรให้จัดเก็บสินค้า รวมไปถึง E-Commerce Park เป็นต้น นอกจากนี้ การกำหนดเขตเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องก็เป็นสิ่งที่สำคัญ
แต่สิ่งเหล่านี้จะทำให้มหานครการบินเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่สามารถดึงดูดคนที่มีคุณภาพให้มาอยู่รวมกันได้ ดังนั้นการพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ย่านที่อยู่อาศัยนี้เน้นเรื่องคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงครอบคลุมถึงการพัฒนาพื้นที่ที่ครบวงจร ทั้งสถานศึกษา โรงพยาบาล สวนสาธารณะ และแหล่งท่องเที่ยว การผลิตบุคลากรก็จะต้องมีความเชื่อมโยงกับ 2 องค์ประกอบก่อนหน้านี้ด้วย
สิ่งที่น่าทึ่งมากสำหรับเมืองเจิ้งโจว คือ ความรวดเร็วในการพัฒนาตามวิสัยทัศน์นี้ ทุกองคาพยพไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารมณฑล ผู้บริหารเมือง รัฐวิสากิจที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัย รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ ต่างร่วมมือกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวเพื่อที่จะไปสู่จุดหมาย
แนวคิด Aerotropolis เป็นแนวคิดหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมนโยบาย Thailand 4.0 โดยการขับเคลื่อนให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนใหม่ของภูมิภาคนี้เพื่อตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 ได้ ปัจจุบันประเทศไทยได้ประกาศให้สนามบินและพื้นที่โดยรอบเป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ภายใต้แนวคิด “เมืองการบิน (Airport City)” วิสัยทัศน์ดังกล่าวเกิดจากศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ตามแนวชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งสามารถส่งเสริมรูปแบบคลัสเตอร์การรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับสนามบินอู่ตะเภา เพื่อยกระดับการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ ผนวกเข้ากับการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเชิงพาณิชย์ สำหรับการสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย
เราอาจกล่าวได้ว่า EEC หรือประเทศไทยของเรามีศักยภาพที่สามารถพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ที่กล่าวมาในข้างต้นได้อย่างไม่เป็นที่ 2 รองใคร เราอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์(logistics hub)ชั้นยอด เรามีกลุ่มอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและสั่งสมมานานในพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดเราเป็นประเทศที่ใครๆ ก็อยากมาอยู่ คำถามคือเราจะสามารถร่วมแรงร่วมใจกันไปให้ถึงฝั่งฝันได้หรือไม่
โดย...
ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์
สถาบันอนาคตไทยศึกษา
Facebook.com/thailandfuturefoundation