สถานการณ์ “ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่รับผิดชอบ” ในไทย ณ ต้นปี 62
ห่างหายไปนานจากคอลัมน์ ผู้เขียนกลับมาประจำ “การเงินเอื้อสังคม” อีกครั้ง ในฐานะสมาชิกแนวร่วม Fair Finance Thailand หรือ “แนวร่วมการเงิน
ที่เป็นธรรมประเทศไทย” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางแผนงานเปิดตัวแนวร่วม และแถลงผลการประเมินนโยบายของธนาคารไทย 9 แห่ง อีกไม่นานเกินรอ
ย้ำกันอีกทีว่า ในภาคปฏิบัติ วันนี้ธนาคารที่ประกาศว่าเดินตามแนวคิด “ธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) จะต้องพิสูจน์ผ่านการดำเนินธุรกิจในสองด้านหลักด้วยกัน ในบทบาท “ตัวกลาง” ที่ขาดไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) การทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อย และสำหรับภาคธุรกิจ (responsible lending/finance) และ 2) การช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่มประชากรที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (financial inclusion)
ย้อนไปเมื่อปี 2558 เมื่อครั้งที่ความตื่นตัวเรื่อง “การธนาคารที่ยั่งยืน” ยังไม่มาก หน่วยงานกำกับดูแลหลักคือธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่มีทีมทำงานด้านนี้ โครงการวิจัย “เหตุผลทางธุรกิจของการธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย” ซึ่งผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการ เคยสรุปว่าธนาคารไทยที่นำวิถีปฏิบัติของธนาคารที่ยั่งยืนไปประยุกต์ใช้น่าจะช่วยสร้างประโยชน์ทางธุรกิจหลายประการ ตั้งแต่การขยายฐานลูกค้า การบริหารความเสี่ยงที่ดีกว่าเดิม และการเพิ่มชื่อเสียง โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าธนาคารหลายแห่งที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
งานวิจัยครั้งนั้นสรุป “เหตุผลทางธุรกิจ” หรือ business case ของการเข้าสู่วิถีการธนาคารที่ยั่งยืนของธนาคารพาณิชย์ไทย วันนี้สามปีผ่านไป ผู้เขียนอยากย้อนกลับไปสรุปเหตุผลทางธุรกิจสั้นๆ ของการทำธุรกิจธนาคารอย่างรับผิดชอบ และสรุปสั้นๆ ว่าสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยเป็นอย่างไร ณ ต้นปี พ.ศ. 2562
1. ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่รับผิดชอบด้านลูกค้ารายย่อย (responsible retail finance)
ความ “รับผิดชอบ” ต่อลูกค้ารายย่อยแสดงออกหลักๆ ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เคารพในสิทธิผู้บริโภค โปร่งใส เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ มีกระบวนการชดเชยเยียวยาที่ทันท่วงทีและเป็นธรรม รวมถึงควร ‘ฝัง’ การให้ความรู้ทางการเงินเข้าไปในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย เช่น ให้ความรู้เรื่องการบริหารเงินไม่ให้เป็นหนี้เกินตัว ณ เวลาที่ลูกค้ามาขอสินเชื่อ เป็นต้น
เหตุผลทางธุรกิจหลักๆ ในด้านนี้มีตั้งแต่การช่วยธนาคารลดความเสี่ยง โดยเฉพาะถ้าธนาคารผนวกโครงการให้การศึกษาทางการเงินเข้าไปในกระบวนการออกแบบและขายผลิตภัณฑ์อย่างสินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังอาจขยายฐานลูกค้า เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้ ถ้าธนาคารเน้นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและการให้ความรู้เป็น “จุดขาย” ของผลิตภัณฑ์ เช่น ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่มาฝากเงินอย่างสม่ำเสมอ สร้างแรงจูงใจให้มีวินัยการออม
ผู้เขียนเห็นว่า สถานการณ์ด้านนี้ ณ ต้นปี 2562 มีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหลักเกณฑ์ “การให้บริการที่เป็นธรรม” (market conduct) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2561 และบังคับใช้อย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากการที่ ธปท. ประกาศปรับธนาคารสองแห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แห่งละราวสามล้านบาท เมื่อเดือนกันยายน 2561 ในข้อหาบังคับขายประกันอัคคีภัยสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างเฉพาะเจาะจง ไม่เปิดให้ลูกค้าเลือกว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อประกัน และถ้าซื้ออยากซื้อเจ้าไหน
ในส่วนของการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้เขียนยังไม่เห็นธนาคารรายใดออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยที่นำ “ความรับผิดชอบ” หรือ “ความรู้ทางการเงิน” มาใส่เป็นหัวใจหรือจุดขาย (ดังตัวอย่าง Simple บริษัทฟินเทคอเมริกัน ซึ่งเคยเขียนถึงไปก่อนหน้านี้)
2. ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่รับผิดชอบด้านลูกค้าธุรกิจ (responsible corporate/wholesale finance)
ความ “รับผิดชอบ” ต่อลูกค้าธุรกิจ แสดงออกหลักๆ ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่บูรณาการเกณฑ์พิจารณาด้านผลกระทบต่อสังคม ธรรมาภิบาล และสิ่งแวดล้อม (Environment, Social, Governance ย่อว่า ประเด็น ESG) เข้าไปในกระบวนการกลั่นกรองสินเชื่อและผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ สำหรับลูกค้าธุรกิจ และในเวลาเดียวกัน ธนาคารก็ควรเพิ่มน้ำหนักการให้บริการทางการเงินกับธุรกิจที่ชัดเจนว่าสร้างประโยชน์สุทธิต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืนมากกว่าเดิม อาทิ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน อาหารออร์แกนิก ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นต้น
เหตุผลทางธุรกิจหลักๆ ในด้านนี้มีทั้งเรื่อง 1) การบริหารความเสี่ยง (risk management) จากการลดน้ำหนักของธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน และผลักดันให้ลูกค้าลดผลกระทบ และ 2) การเพิ่มฐานลูกค้าและเข้าตลาดใหม่ จากการเพิ่มน้ำหนักของธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยมาตรฐานขั้นสูงของการแสดงความรับผิดชอบด้านนี้ เช่น การรับชุดหลักการอีเควเตอร์ (Equator Principles) สามารถช่วยธนาคารบริหารจัดการและลดความเสี่ยงจากการถูกฟ้องดำเนินคดี ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง และความเสี่ยงทางการเงิน ที่เกิดจากความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือลูกค้าที่มีแนวโน้มก่อผลกระทบเชิงลบสูง และความเสี่ยงเหล่านั้นยังไม่ถูกจำกัดหรือรับมืออย่างเพียงพอในขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบภาครัฐ
ผู้เขียนเห็นว่า สถานการณ์ด้านนี้ ณ ต้นปี 2562 มีแนวโน้มทั้งด้านดีและด้านแย่ ด้านดีก็คือการที่ธนาคารหลายแห่งเพิ่มน้ำหนักการลงทุนและสนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืนกว่าในอดีต มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพอร์ตสินเชื่อด้านพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการออกตราสารหนี้เขียว (green bond) ของธนาคารทีเอ็มบี และตราสารหนี้ยั่งยืน (sustainability bond) ของธนาคารกสิกรไทย ในเดือนมิถุนายน และเดือนตุลาคม ปี 2561 ตามลำดับ เพื่อสนับสนุนโครงการที่ผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนระดับสากล
ส่วนในด้านแย่ ธนาคารไทยโดยรวมยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควรกับการประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) ที่ชัดเจน ซึ่งควรรวมถึงรายการธุรกิจที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (negative list) ที่ตั้งอยู่บนองค์ความรู้ล่าสุดว่าด้วยธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน และสถานการณ์ระดับโลกอย่างเช่นความเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความอ่อนไหวและเปราะบางมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ ธนาคารไทยหลายแห่งยังเดินหน้าให้การสนับสนุนโครงการที่สุ่มเสี่ยงว่าจะสร้างผลกระทบทางลบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสูง โดยเฉพาะในบริเวณที่กลไกการกำกับดูแลอ่อนแอ อาทิเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งในลาว
ณ ต้นปี 2562 ยังไม่มีธนาคารไทยรายใดประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) พร้อมรายการและรายละเอียดของลักษณะธุรกิจที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (negative list) ที่ไปไกลกว่าข้อกำหนดตามกฎหมาย (เช่น กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายและฟอกเงิน)
“นโยบายสินเชื่อ” สำคัญอย่างไร เป็นหัวใจที่ขาดไม่ได้ของการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง “ธนาคารที่ยั่งยืน” อย่างไร ตัวอย่างนโยบายที่น่าสนใจของธนาคารประเทศอื่นมีอะไรบ้าง แล้วมันช่วยสร้างประโยชน์ทางธุรกิจให้กับธนาคารได้อย่างไร?
โปรดติดตามตอนต่อไป