สิ่งที่ผู้มีโรคลมชักควรถามเวลาไปพบแพทย์

สิ่งที่ผู้มีโรคลมชักควรถามเวลาไปพบแพทย์

ผมไม่มีอะไรมากเกี่ยวกับความนี้ครับ จะว่าไปวัฒนธรรมของบ้านเราคือค่อนข้างเกรงใจ และไม่ค่อยกล้าแสดงออก ทำให้เวลามีปัญหาในภายหลัง

 ไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากการติดต่อระหว่างแพทย์และคนไข้ในบ้านเราค่อนข้างมีจำกัด และข้อมูลเกี่ยวกับโรคลมชักมีไม่เพียงพอ ซึ่งตรงนี้มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวัฒนธรรมตะวันตก จากประสบการณ์ที่ผมได้พบเจอคนต่างประเทศในทุกๆวัน ส่วนใหญ่มักมีการเตรียมตัวมาอย่างดีในการพบแพทย์ โดยส่วนหนึ่งเนื่องจากค่ารักษาค่อนข้างสูง ดังนั้นการไปพบแพทย์คนต่างประเทศมักใช้เวลานี้อย่างมีค่าและให้ได้ประโยชน์สูงสุด แต่ก็มีส่วนน้อยที่ไม่ค่อยรู้นะครับ ไม่ใช่ไม่มี

ผมจึงพยายาม เรียงลำดับรายชื่อหัวข้อที่จำเป็นขึ้นมาเผื่อว่า ท่านจะนำไปใช้ในการพบแพทย์รับยาคราวหน้า

ประวัติท่านเป็นโรคลมชักชนิดใด ระหว่าง โรคลมชักเฉพาะส่วน (Focal Epilepsy) กับ โรคลมชักกระจายทั้งสมอง (Generalized seizure) หรือ เป็นทั้ง 2 แบบ

ผลคลื่นไฟฟ้าสมอง  ให้ผลตรวจ แบบปกติ หรือ ผิดปกติ  

ถ้าผิดปกติเป็นแบบ มีคลื่นชัก หรือไม่มีคลื่นชัก 

ถ้ามีคลื่นชัก จะมีเฉพาะส่วน เพียงส่วนเดียว หรือ มีเฉพาะส่วน หลายๆส่วน หรือ กระจายทั้งสมอง

ผลเอกซเรย์สมอง? (MRI Brain) ให้ผล แบบปกติ หรือ ผิดปกติ 

ถ้าผิดปกติ เป็นแบบไหน ? ซึ่งผมแนะนำให้ขอรายงานผล MRI เป็นภาษาอังกฤษมาเก็บไว้กับตัว 

ท่านควรถามแพทย์ของท่านเกี่ยวกับความผิดปกติของผล MRI เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าท่านไม่เข้าใจความผิดปกติของ MRI ของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ควรให้แพทย์ของท่านอธิบายให้เข้าด้วยครับ อย่าอายนะครับอันนี้เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องทำเช่นกัน

ผมขอย้ำว่าเป็นหน้าที่ของแพทย์นะครับ

สาเหตุของโรคลมชัก 

หากยังไม่ทราบสาเหตุ อาจเนื่องจากผลการตรวจ EEG กับ MRI ปกติ 

ถ้าทราบสาเหตุ ควรถามแพทย์ของท่านถึงสาเหตุ หรือประเภทโรคลมชักเป็นภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นโรคลมชักจากสมองขาดเลือดหรือ Stroke, ปลอกหุ้มเส้นประสาทอักเสบหรือ Multiple sclerosis, Juvemile myoclonic epilepsy (JME), Mesial temporal sclerosis (MTS), Lennox-Gastaut syndrome, West syndrome, ...

การดูแลรักษาซึ่งแบ่งเป็น 4 แบบ คือ 1.การรับการักษาโดยการผ่าตัด  2.การรับการรักษาโดยการติดเครื่องกระตุ้น (VNS, RNS, DBS,  TNS) 3.การรักษาด้วยยากันชัก ท่านควรขอชื่อตัวยาไม่ใช่ชื่อการค้า เช่น Phenytoin ไม่ใช่ Dilantin  ควรรู้จักปริมาณยาที่ทานในแต่ละวันเป็นมิลลิกรัมต่อวัน ไม่ใช่เป็นเม็ด และควรสอบถามการข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยากันชักแต่ละตัวที่ท่านทาน

4.การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ที่มี 4 วิธี วิธีแรก แบบ Ketogenic diet วิธีที่2 แบบ Modified Atkin’s diet  วิธีที่ 3 แบบ Low glycemic diet และ วิธีที่ 4 แบบ MCT oil

สุดท้าย

ผมหวังว่า 5 ข้อด้านบนคงไม่มากไปนะครับ นอกจากนี้ข้อมูลด้านอื่นๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ประวัติการแพ้ยา, ประวัติการรักษาด้วยยากันชักในอดีต, รายละเอียดอาการชัก, ความถื่ของอาการชัก, ...

ข้อมูลเหล่านี้ยิ่งมีมาก ยิ่งทำให้การรักษามีความกระจ่างมากขึ้น หลังอ่านจบลองทบทวนดูนะครับว่าท่านมีรายละเอียดเกี่ยวกับ 5 ข้อด้านบนรึยัง ถ้าท่านยังไม่มีหรือมีไม่ครบ นัดครั้งต่ออย่าลืมสอบถามแพทย์ของท่านนะครับ เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง

สิ่งที่ผมร่างบัญชีรายชื่อมาเพราะ เพื่อประโยชน์ต่อตัวท่านเองนะครับ เนื่องจากเราไม่สามารถคาดการณ์อาการชักที่จะเกิดล่วงหน้าได้ การมีข้อมูลดังกล่าวจะสามารถทำให้บุคคลากรทางการแพทย์เข้าช่วยเหลือท่านได้ทันท่วงทีในกรณีฉุกเฉิน หรือสามารถรับการรักษาต่อเนื่องกับแพทย์ท่านอื่นๆ ได้อย่างดี

โดย... 

นพ.สหวรรธน์ ตันติกิตติชัยกุล