งานวิจัยล่าสุดที่อาจนำไปสู่ยารักษาโรคอัลไซเมอร์
มนุษย์รู้จักโรคอัลไซเมอร์มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถค้นพบยาที่จะรักษาโรคนี้ได้
ล่าสุดยาอีก 2 ตำหรับที่ทำการทดลองกับมนุษย์ต้องยกเลิกไป เพราะไม่ได้ผลในการรักษาโรคนี้ดังที่คาดหวังเอาไว้ นิตยสาร Scientific America เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2019 รายงานว่าปัจจุบันมียาประมาณ 96 ชนิดที่อยู่ในระหว่างการทดลองใช้ (clinical trial) สะท้อนว่ามีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะค้นคว้าหายารักษาโรคนี้ให้ได้
ปัจจุบันนั้นแนวคิดหรือทฤษฏีที่ใช้อธิบายอาการของโรคอัลไซเมอร์คือ การสะสมตัวของโปรตีนที่เรียกว่า Amyloid Beta เป็นจำนวนมากเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งเป็นแผงหรือหินปูน (plaque) ที่ทำลายเซลล์สมองโดยเฉพาะเปลือกสมอง (cerebral cortex) ทำลายเนื้อสมองและทำให้สมองหดตัวและกระทบต่อการประมวลผลความคิดและการทำงานที่ซับซ้อนของสมอง รวมถึงความทรงจำ การคำนวณ การสะกดคำ ฯลฯแนวทางการค้นคว้าหายารักษาโรคอัลไซเมอร์ส่วนมากจึงทุ่มเทไปในทิศทางที่จะกำจัดโปรตีน Amyloid Beta ดังกล่าว
ผมก็เคยเขียนถึงระบบชำระ “ล้างสมอง” ที่เรียกว่า glympathic system ซึ่งเป็นระบบที่อาศัยของเหลวที่หลั่งออกจากกระดูกสันหลัง (cerebral spinal fluid) มาฉีดล้างเศษ Amyloid Beta ที่คั่งค้างอยู่ระหว่างเซลล์ของสมอง (neurons) ในช่วงที่เรานอนหลับลึก (deep sleep) โดยนักวิจัยพบว่าช่วงที่เราหลับลึกนั้นเซลล์สมองจะหดตัวให้ขนาดลดลง 60% ทำให้น้ำที่หลั่งออกมาสามารถฉีด-ล้าง Amyloid Beta ที่คั่งค้างได้อย่างหมดจดทุกคืน
แต่โรคอัลไซเมอร์นั้นมีอีกอาการหนึ่ง ที่น่าจะมีบทบาทสำคัญคือ การก่อตัวขึ้นของโปรตีนเตา (Tau Protein) ซึ่งก่อตัวขึ้นภายในโครงสร้างของเซลล์สมอง (ไม่ใช่ช่องว่างระหว่างเซลล์สมอง) โดยเฉพาะภายในกิ่งก้านของเซลล์สมองที่เรียกว่า Axon ซึ่งมี “ท่อส่งบำรุง” ที่เรียกว่า microtubules ซึ่งงานวิจัยพบว่าการก่อตัวของเศษของโปรตีนเตานั้นเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ก็จะรวมตัวกันเป็นเส้นๆ (Tau tangles) ซึ่งทำลายระบบลำเลียงสารอาหารและระบบติดต่อกันของเซลล์สมอง (synapses) อาการนี้เกิดขึ้นภายหลังการสะสมและรวมตัวของโปรตีน Amyloid Beta ดังนั้นแนวคิดส่วนใหญ่จะเชื่อว่า Amyloid Beta เป็นสาเหตุหลัก แนวทางในการค้นคว้าหายารักษาจึงมักจะมุ่งเน้นการทำลาย Amyloid Beta มากกว่า
อย่างไรก็ดีก็ยังมีแนวคิดอื่นๆ ด้วย เช่นในปี 2018 มีงานวิจัยของ Center for Cognitive Health ของโรงพยาบาล Mount Sinai พบว่าไวรัสบางประเภทที่ทำให้เป็นโรคเริม (herpes simplex virus) นั้นมีปริมาณสูงมากในคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ งานวิจัยนี้สะท้อนว่าโรคอัลไซเมอร์น่าจะมีสาเหตุมาจากการอักเสบเรื้อรัง (chronic inflammation) ซึ่งเกิดขึ้นเพราะคนบางคนอาจมีเชื้อของโรคเริมอยู่ในร่างกายเป็นเวลาหลายสิบปี
งานวิจัยล่าสุดที่ผมอ่านพบคืองานวิจัยที่พิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2019 ชื่อ “NLRP3 inflammasome activation drivers tau pathology” โดยทีมวิจัยของ University of Bonn ที่สรุปว่า “inflammatory processes triggered by the brain’s immune system are a driving force” ในการทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้โปรตีนที่เป็นสาเหตุหลักคือ NLRP3 inflammasome ซึ่งทำหน้าที่ปล่อยสารเคมีที่เป็นภูมิคุ้มกันออกมา แต่หากออกมาเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ก็กระตุ้นให้เกิด hyperphosphorylation คือการส่งผลกระทบต่อโปรตีนเตา ทำให้หลุดออกมาจากโครงสร้างภายในของเซลล์สมองและชิ้นส่วนที่หลุดออกมาจะค่อยๆ รวมตัวกันเป็นเส้นๆ (tangles) ที่ทำลายเซลล์สมองจากภายในเซลล์สมองดังกล่าวข้างต้น
ก่อนหน้านี้นักวิจัยของ University of Bonn ค้นพบว่าการทำงานของ NLRP3 inflammasome นี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการสะสมของ Amyloid Beta เช่นกันทำให้นักวิจัยสรุปว่างานวิจัยชิ้นนี้สนับสนุนทฤษฎีเกี่ยวกับอัลไซเมอร์ที่เรียกว่า “amyloid cascade hypothesis” กล่าวคือการสะสมของ Amyloid Beta ส่งผลกระจายออกมากระตุ้นให้ปริมาณโปรตีนเตาเพิ่มขึ้นและก็สะสมตัว ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า NLRP3inflammasome นั้นเป็นต้นตอหรือตัวกลางที่เชื่อมต่ออาการทั้งสอง (the missing link) ซึ่งนำไปสู่การเป็นโรคอัลไซเมอร์
ความรู้ใหม่นี้ย่อมเป็นโอกาสให้นักวิจัยมีแนวทางอีกทางหนึ่งในการแสวงหายารักษาโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งผมพขอเอาใจช่วยให้สามารถหายารักษาโรคนี้ได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้คาดการณ์แล้วว่าสังคมสูงวัยของไทยนั้นมีความเสี่ยงที่จะมีผู้สูงอายุชาวไทยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์กว่า 1 ล้านคนภายใน 10 ปีข้างหน้าจากปัจจุบันที่มีผู้ป่วยกว่า 600,000 คนครับ