เศรษฐกิจไทยไร้สัญญาณฟื้นตัว

เศรษฐกิจไทยไร้สัญญาณฟื้นตัว

ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไปประจำเดือนมี.ค.ล่าสุดตัวเลขอยู่ที่ติดลบ 0.54 % ซึ่งติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 33 เดือนต่ำที่สุดรอบ 51 เดือน

 ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงถึง 11 ครั้งในเดือนมี.ค. ผลจากราคาน้ำมันโลกลดลงอย่างรุนแรง เนื่องมาจากการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลงทั้งอุตสาหกรรมการบิน ที่หยุดบิน การขนส่งหยุดชะงักเพราะการระบาดของโควิด-19

ตัวเลขเงินเฟ้อที่หดตัวลง สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย อยู่กับบ้านตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ “Social Distancing” กิจกรรมทางด้านธุรกิจลดลง นักท่องเที่ยวลดลง ซึ่งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ความไม่แน่นอนเงินเฟ้อของไทยอาจจะติดลบ 1% ถึง 0.2 %

การที่เงินเฟ้อลดต่ำลงอันเนื่องมาจากการที่ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น เม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศจึงไม่เกิดการขยายตัว จนเป็นผลให้เงินเฟ้อติดลบ อาจนำประเทศไทย เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งหากเงินเฟ้อปีนี้ติดลบ 1 % จริงก็ถือว่าเป็นเงินเฟ้อต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ และเป็นการติดลบครั้งแรกรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ที่เงินเฟ้อที่ต่ำสุดอยู่ที่ 0.9 %

ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยก็อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เช่นกัน ตัวเลขการส่งออกล่าสุดเดือน ก.พ.อยู่ที่ ลบ 4.47% แม้กระทรวงพาณิชย์จะออกมาตรการกระตุ้นการส่งออก แต่ด้วยข้อจำกัดก็ยังไม่สามารถกระตุ้นการส่งออกได้มากนัก โดยเฉพาะกิจกรรมส่งเสริมการค้าทั้งงานแสดงสินค้า การจับคู่เจรจาธุรกิจ ต้องงดหรือเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จะมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมส่งเสริมการค้าไปในระบบออนไลน์มากขึ้น

สภาส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยหรือ สรท. คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะติดลบ 8 % หากติดลบตัวเลขสองตัวก็ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี สอดคล้องกับศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่า ส่งออกไทยในปี 63 คาดว่าจะมีมูลค่า 228,816 ล้านดอลลาร์ลดลงจากปีก่อน 7.1% หรือลดลง 17,429 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดรอบ 10 ปี

การที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจทั้งเงินเฟ้อและส่งออกที่ติดลบ สาเหตุสำคัญมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก มีผลต่อการส่งออกหลายประเทศเริ่มมาตรการห้ามการเข้า-ออก การเดินทางหรือล็อคดาวน์ กระทบต่อภาคการผลิตในประเทศรายได้ของประชาชนที่ลดลง ลดการจ้างงาน ปิดกิจการชั่วคราวและถาวร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเทศรวมถึงไทย ระบบโลจิสติกส์ ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และทางบก ซึ่งสถานการณ์การติดเชื้อทั่วโลกยังพุ่งต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลาย

ไม่มีใครประเมินได้ว่า การระบาดของโควิด-19 จะยุติลงได้เมื่อไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยที่กำลังโงหัวขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐกลับต้องฟุบลงต่อไปอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่จะทำได้คือ การประคองเศรษฐกิจโดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกของไทยที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60 % ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีไม่ให้ติดลบมากกว่าไปกว่านี้