คุณค่าต้องมาก่อนความสำเร็จ
หน้าประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยผู้คนที่พยายามหาคำตอบว่าต้องทำอย่างไรองค์กรจึงจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้
หนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือ ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของงาน (KPI)
หลังจากแนวคิดนี้ถูกนำมาใช้สักพักหนึ่งก็เริ่มมีคำถามว่า หาก KPI เป็นยาวิเศษขนาดนั้นจริง ทำไมบริษัทที่นำเครื่องมือนี้ไปใช้จำนวนไม่น้อยถึงไม่สามารถไปถึงเป้าหมาย ซ้ำร้ายกว่านั้นยังอาจทำให้ขวัญกำลังใจของคนในบริษัทตกต่ำลง อัตราการเปลี่ยนงานสูงขึ้น วัฒนธรรมองค์กรถูกกัดกร่อน จนสุดท้ายธุรกิจเลยอ่อนแอลงกว่าเดิม งานวิจัยหลายเรื่องให้ข้อสรุปไปในทางเดียวกันว่าสิ่งที่ขาดหายไปคือ “คุณค่า” ในงาน
หากคิดว่า “คุณค่า” เป็นคำที่สวยหรูแต่ทำจริงไม่ได้ น่าจะลองอ่าน The HOW Report ที่จัดทำโดยบริษัท LRN ในปี 2016 รายงานฉบับนี้สำรวจพนักงานกว่า 1.6 หมื่นคนจาก 17 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีทั้งพนักงานบริษัท เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ที่ทำงานให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไร ผลการศึกษาสำคัญที่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรใช้คุณค่ามานำทางองค์กรมีดังนี้
เหตุผลที่ 1 องค์กรที่ให้ความสำคัญกับคุณค่ามีมากขึ้นจากปี 2012 ถึง 2018 สัดส่วนขององค์กรที่ใช้คุณค่าในการบริหารจัดการองค์กรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 8 สะท้อนให้เห็นว่ามีองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเห็นตัวอย่างขององค์กรที่ประสบความสำเร็จจากการนำคุณค่ามาใช้เป็นแนวทางในการทำงาน
เหตุผลที่ 2 องค์กรที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทำงานได้เหนือกว่าองค์กรทั่วไป ร้อยละ 98 ของพนักงานที่ระบุว่าองค์กรของตนเองเป็นองค์กรแห่งคุณค่า มีผลการดำเนินดีกว่าองค์กรทั่วไปถึงเท่าตัว ทั้งในด้านการเงิน ความสามารถในการแข่งขัน การสร้างนวัตกรรม ความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย ภาพลักษณ์ของแบรนด์ รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความไม่โปร่งใสในการทำงานต่ำกว่าอีกด้วย
เหตุผลที่ 3 คุณค่าได้สร้างบุคลิกให้กับองค์กรและหล่อหลอมคนในบริษัท องค์กรแห่งคุณค่าจะหล่อหลอมคนในบริษัทให้มีความเชื่อเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน สามารถสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา ผลการสำรวจพบว่าประมาณ 3 ใน 4 ของพนักงานในองค์กรแห่งคุณค่ารู้สึกว่างานที่ตนเองทำมีความหมายต่อส่วนรวม ในขณะที่มีเพียงประมาณ 1 ใน 5 ของพนักงานในองค์กรทั่วไปที่รู้สึกแบบนี้
เหตุผลที่ 4 ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เกิดขึ้นทำให้เกิดนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น เมื่อทุกคนมองไปในทางเดียวกัน เชื่อใจกัน การทำผิดพลาด ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ ก็ทำให้พนักงานกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลใจ ผลการสำรวจพบว่าพนักงานในองค์กรแห่งคุณค่ามีแนวโน้มจะทดลองทำสิ่งใหม่ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่าพนักงานในองค์กรทั่วไปถึง 32 เท่า นอกจากนี้แล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจกันยังช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารภายในองค์กร ซึ่งมีส่วนช่วยให้การสร้างนวัตกรรมมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้จากกันและกันภายในองค์กรอีกด้วย
เหตุผลที่ 5 พนักงานในองค์กรแห่งคุณค่ารู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร การรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรจะทำให้พนักงานทำงานโดยยึดเอาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 99 ของพนักงานที่ทำงานในองค์กรแห่งคุณค่าจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและมีแนวโน้มจะแนะนำให้คนอื่นมาทำงานที่เดียวกัน ซึ่งต่างกับกรณีขององค์กรทั่วไปที่มีเพียงร้อยละ 31 ที่คิดแบบนี้
เหตุผลที่ 6 องค์กรแห่งคุณค่าสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงาน ส่งผลให้พนักงานทุ่มเทในการทำงานอย่างเต็มใจ พร้อมจะรับผิดชอบในงานของตนเอง และพร้อมจะแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 95 ของพนักงานในองค์กรแห่งคุณค่าระบุว่าเพื่อนร่วมงานของตนมีคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้ สำหรับองค์กรทั่วไปมีเพียงร้อยละ 27 ที่ตอบแบบนี้
เหตุผลที่ 7 ผู้นำในองค์กรแห่งคุณค่าจะได้รับการยอมรับจากพนักงานมากกว่าผู้นำโดยตำแหน่งเมื่อทุกคนรู้ว่างานที่ตนเองทำจะช่วยส่งมอบคุณค่าอะไรให้กับกลุ่มเป้าหมาย ผู้นำก็ไม่จำเป็นต้องคอยมาควบคุมสั่งการ แต่เป็นคนคอยช่วยเหลือและพัฒนาทุกคนให้สามารถพัฒนาตนเอง ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 96 ของพนักงานในองค์กรแห่งคุณค่าระบุว่าผู้บริหารขององค์กรเป็นผู้นำของพวกเขา สำหรับองค์กรทั่วไปสัดส่วนในเรื่องนี้มีเพียงร้อยละ 52
การส่งต่อคุณค่าถึงพนักงานมีความสำคัญและต้องมาก่อนการกำหนด KPI ของแต่ละคน โดยเฉพาะ KPI ที่ผูกกับตัวเงิน มีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรที่เอาเงินนำหน้าเมื่อเจอความยากลำบากมักเจ็บหนัก ส่วนองค์กรที่ทุกคนทำงานด้วยคุณค่า ต่อไปให้บุกน้ำลุยไฟ ถึงไม่มี KPI ทุกคนก็พร้อมจะสู้แบบถึงไหนก็ถึงกัน