ส่งเศรษฐกิจไทยช่วงนาทีทอง ปลอดสงครามการค้า

ส่งเศรษฐกิจไทยช่วงนาทีทอง ปลอดสงครามการค้า

ภาพการลงทุนเดือนกรกฎาคม ตลาดหุ้นยังมีทิศทางทรงตัว ตลาดตราสารหนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมาก ค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงเล็กน้อย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าหากปัจจัยทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะทำให้ภาพการลงทุนฟื้นตัวขึ้น

ตั้งแต่ต้นเดือนมาจนถึงกลางเดือนมิถุนายน ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ยังคงลดน้อยลง ปริมาณการซื้อขายของต่างชาติก็ออกมาเป็นขายสุทธิเกือบทุกวัน เสมือนว่านักลงทุนต่างชาติทยอยลดการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ภาวะแบบนี้จะเป็นไปอีกนานหรือไม่ ประเทศไทยไม่มีอะไรให้น่าลงทุนเลยเหรอ ผมจะขอใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อชี้ให้เห็นถึงเรื่องดีๆ และโอกาสดีๆที่ประเทศไทยมีและเรากำลังจะก้าวเดินไป มาลองดูว่าทำไมถึงควรที่จะลงทุนในประเทศไทย 

ในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน เรามีทุกอย่างครบ แต่ที่อาจจะแตกต่างและดูแปลกกว่าชาวบ้าน ข้อแรก เรามีความสามารถในการพร้อมจ่ายไฟฟ้า เหลืออยู่ราว 30 - 40% น่าจะเยอะที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศ เช่น เวียดนามยังมีไฟฟ้าไม่พอใช้ ข้อ 2 เรามีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการคมนาคมขนส่งสะดวกติดทะเลถือได้ว่าดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และข้อที่ 3 ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีปัญหาด้านเชื้อชาติ เหยียดผิว และเป็นกลาง ทั้ง 3 ประการนี้ใครจะว่าอย่างไรก็ตามสะดวกแต่สำหรับผมโครงสร้างแบบนี้ผมเรียกว่ารันเวย์ แต่จะเทคออฟด้วยปัจจัยอะไร นั่นเหละคือคำถามตัวโตๆ แต่ก็ไม่ยากที่จะตอบ หลายคนอาจจพูดถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EV Car Data Center Cloud Business Lithium Battery ดูแล้วหล่อมาก แต่ถ้าจะพูดว่าเรามีศักยภาพพอที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นที่ดีกว่า หม้อหุงข้าว หรือเครื่องปิ้งขนมปัง แบบนี้ผมว่าดีกว่า ทั้งหมดนี้เอกชนเดินหน้าและรัฐบาลมาเติมเชื้อไฟให้ ช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยเพราะสงครามการค้า ระหว่าง สหรัฐฯ และ จีน ได้เปิดโอกาสให้เราแล้วละครับ เอาละขอใช้พื้นที่แค่นี้เพื่อบอกดังๆว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสที่ดี และช่วงเวลานี้ ถือเป็นช่วงเวลาหรือเป็นโอกาสที่เหล่านักลงทุนทั้งหลายจะได้มีเวลาที่จะเลือกเข้าลงทุนได้อย่างเต็มที่ ค่อยๆ เลือกเลยครับ มีเวลาให้เลือกผมว่านานอยู่นะครับ แต่ก็ไม่รู้ว่าหน้าต่างบานนี้จะเปิดอยู่นานรึเปล่านะครับ 

ตอบคำถามตัวโตๆ ไปแล้วก็มาเล่าเรื่องการลงทุน โดย ผมจะขอเล่าผ่านการลงทุนในตลาดหุ้นเพราะสะท้อนภาพได้เร็วมาก เอาเป็นว่าหลังจากที่ตลาดหุ้นซึมลงมาจนผลการตัดสินออกมาว่า เลื่อนไปก่อน 2 เคส คือ เรื่อง ปลดนายกรัฐมนตรี กับ เรื่องยุบพรรค ตลาดหุ้นก็ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ผมเชื่อว่าการฟื้นตัวเป็นเพราะมาตรการที่ รัฐบาล จะเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นโดยการออกมาตรการจูงใจในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านการลงทุนในกองทุนไทย ESG และมีแถมว่าอาจจะเปิดให้ประชาชนสามารถลงทุนในกองทุน วายุภักษ์ ได้ ผมคงไม่ลงรายละเอียด แต่ก็ช่วยบรรยากาศการลงทุนในช่วงครึ่งเดือนหลังได้ดีขึ้น ส่วนการประชุมเรื่องนโยบายดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ MPC ผลออกมาตามคาด คือ คงอัตราดอกเบี้ย แต่ที่น่าสนใจคือรอบนี้ เสียงออกมา 6 ต่อ 1 ชัดว่าคงไม่มีการใช้นโยบายทางการเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วๆนี้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเรานะครั้ง ย่อหน้าถัดไปผมขอพาไปเที่ยวรอบโลกกันต่อนะครับ

ปัจจัยต่างประเทศ ก็มีอะไรน่าสนใจตามนี้ครับ เริ่มที่ ผลการประชุมกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติขยายเวลาลดกำลังการผลิตลง 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2568 และขยายเวลาลดการผลิตโดยสมัครใจอีก 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ปีนี้ และหลังจากนั้นจะให้ทยอยหมดอายุไปภายในหนึ่งปี ดูจะลดน้อยไปหน่อย ตามมาด้วยเรื่องดอกเบี้ย ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำคัญ 0.25% ตามคาด และ ยังไม่มีการส่งสัญญาณใดชัดเจนถึงแนวโน้มของการประชุมครั้งถัดไป นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าการลดดอกเบี้ยครั้งถัดไปน่าจะเกิดขึ้นได้ในเดือนกันยายนหรือตุลาคมนี้ ข้ามมาที่ ญี่ปุ่น ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาในทิศทางผ่อนปรนมากขึ้น โดยไม่ได้มีการปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรในการประชุมคราวนี้ทันที ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 6 ล้านล้านเยนต่อเดือน แต่จะมีการเปิดเผยแผนดังกล่าวในการประชุมครั้งหน้าเดือนก.ค. ออกแนว ประคองไปก่อนครับ 

ภาพการลงทุนเดือนกรกฎาคม ตลาดหุ้นยังมีทิศทางทรางตัว ตลาดตราสารหนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมาก ค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงเล็กน้อย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าหากปัจจัยทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะทำให้ภาพการลงทุนฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเศรษฐาและรัฐบาลชุดนี้สามารถดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อ จะทำให้การสานต่อทางด้านนโยบายเศรษฐกิจต่างๆเป็นไปได้อย่างราบรื่น แต่หากไม่เป็นดังนั้น ภาวะการลงทุนก็จะซบเซาลงและเคลื่อนไหวแบบไร้ทิศทางไปเพื่อรอความชัดเจนทางการเมือง ต่อไป 

พอร์ตการลงทุน ในเดือน กรกฎาคม ผมยังให้น้ำหนักตลาดหุ้นที่สัดส่วน 50% แบ่งเป็น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ประเทศละ 10% เวียดนาม อินเดีย ไทย รวมกันไม่เกิน 15% และจีน 5% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% และตลาดเงิน 10% ที่เหลือลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก อาทิ ทอง น้ำมัน และ REIT สัดส่วนประมาณ 10%