สาเหตุที่เราไม่ควรลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐ

สาเหตุที่เราไม่ควรลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐ

แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีแนวโน้มเผชิญกับความเสี่ยงต้นทุนทางการเงินที่สูงและมีผลประกอบการที่ขาดทุน รวมถึงเสียเปรียบบริษัทขนาดใหญ่ในด้านเทคโนโลยี AI ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทขนาดเล็กที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี S&P500 +15%YTD ในช่วงครึ่งปีแรก และทำสถิติแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหนือ 5,600 จุดเป็นครั้งแรก ขณะที่ดัชนี Russell 2000 ซึ่งเป็นดัชนีของบริษัทขนาดเล็กสุด 2,000 บริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวในกรอบและให้ผลตอบแทนราว +1%YTD เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า ผลตอบแทนของหุ้นขนาดใหญ่และขนาดเล็กในสหรัฐมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญและคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ โดยเราได้วิเคราะห์สาเหตุที่ว่า “ทำไมเราไม่ควรลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐ” โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ 

ประเด็นที่ 1 กระแสเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในดัชนี S&P500 แน่นอนว่าการปรับตัวขึ้นของดัชนี S&P500 นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจากกระแสการเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งหากพิจารณาจากสัดส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในแต่ละดัชนี จากรายงาน “US Quarterly Chartbook : S&P 500 1H return of 15% driven by mega cap tech performance” ของ Goldman Sachs ณ วันที่ 1 ก.ค. 2024 ในดัชนี S&P500 พบว่ามีสัดส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสูงถึง 32.4% และให้ผลตอบแทนสูงถึง +28%YTD เทียบกับดัชนี S&P500 +15%YTD ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดของดัชนี S&P500 6 บริษัทแรกล้วนเป็นหุ้นเทคโนโลยี ได้แก่ Microsoft (MSFT), NVIDIA (NVDA), Apple (AAPL), Google (GOOGL), Amazon.com (AMZN) และ Meta Platforms (META) ขณะที่สัดส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในดัชนี Russell 2000 มีสัดส่วนน้อยกว่าราวครึ่งหนึ่งที่ 15.1% 

เรามองว่าแนวโน้มบริษัทที่ได้ประโยชน์จากกระแสการลงทุนในเทคโนโลยี AI มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อ โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยี AI เช่น กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งได้ปัจจัยสนับสนุนจากค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capex) ของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ทั้ง Microsoft, Meta และ Google ในศูนย์ข้อมูล (Data Centers) เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ราว 48% และจากประมาณการณ์ของ UBS (ที่มา : UBS “The roar is getting a little louder, Assessing the “Roaring ‘20s” outlook for the US economy” as of June 2024) การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI จะเพิ่มสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 และแตะระดับสูงสุดที่ราว 2% ของ GDP ในช่วงต้นทศวรรษ 2030 ซึ่งการลงทุนในเทคโนโลยี AI ที่เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่การใช้งานเทคโนโลยี AI อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และนำมาซึ่งผลิตภาพของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่กำลังเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จะเผชิญกับความยากลำบากในการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับ AI ซึ่งนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันที่อาจจะลดลงโดยเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ สะท้อนว่า ในมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐในระยะยาว การเลือกลงทุนในดัชนี Russell 2000 ซึ่งรวมกลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก มีแนวโน้มเสียเปรียบการลงทุนในดัชนี S&P500 ที่มีสัดส่วนของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่สูงกว่า 

ประเด็นที่ 2 ความตึงตัวทางการเงินและผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อพูดถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูง ปฏิเสธไม่ได้ว่าหุ้นกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่สูงของธนาคารกลางมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ จากรายงานของ Bloomberg (ที่มา : Bloomberg “A $600 Billion Wall of Debt Looms Over Market’s Riskiest Stocks” as of May 11, 2024) บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในดัชนี Russell 2000 มีมูลค่าหนี้สินราว 8.32 แสนล้านดอลลาร์ โดย 75% มีกำหนดชำระภายในปี 2029 ขณะที่ บริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P 500 มีเพียง 50% ของมูลค่าหนี้สินทั้งหมดที่ครบกำหนดชำระในระยะเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ ราว 1 ใน 3 ของหนี้สินของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี Russell 2000 เป็นการกู้ยืมบนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เทียบกับบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 ที่มีสัดส่วนการกู้ยืมบนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวเพียง 6% ของมูลค่าหนี้สินทั้งหมด เราจึงมีความกังวลกับภาระดอกเบี้ยและหนี้ที่ต้องเร่งการผ่อนชำระในบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ จากต้นทุนทางการเงินรวมถึงต้นทุนการรีไฟแนนซ์ (Refinance) ที่สูงขึ้นของบริษัทในดัชนี Russell 2000 ทำให้เรายังคงชื่นชอบการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ หรือหุ้นในดัชนี S&P500 มากกว่า ทั้งนี้ หากทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงชัดเจนขึ้นในอนาคต อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงดัชนี Russell 2000 น่าสนใจมากขึ้น

ประเด็นที่ 3 ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน วลีอมตะในโลกการลงทุนที่ว่า “เจ้ามือที่แท้จริงคือผลประกอบการ” ยังคงถูกต้องเสมอ และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เราตัดสินใจในการลงทุน หากพิจารณา 12-months forward EPS ของดัชนี Russell 2000 อ้างอิงจากบทวิเคราะห์ “US Macroscope: Low valuations and a healthy growth outlook signal more upside for small-caps” ของ Goldman Sachs ณ วันที่ 8 ม.ค. 2024 ราว 1 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี Russell 2000 มีผลประกอบการขาดทุน สูงกว่าในอดีตเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ที่มีสัดส่วนบริษัทขาดทุนเพียง 5% โดยหุ้นในกลุ่มการแพทย์ (Healthcare) ที่มีสัดส่วนราว 5% ในดัชนีเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 15% ในดัชนี Russell 2000 ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่กดดันผลประกอบการของดัชนี Russell 2000 โดยมีข้อมูลว่าบริษัทในกลุ่มการแพทย์ขนาดเล็กที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) ส่วนมากจะเผชิญกับประกอบการขาดทุน มีความเสี่ยงด้านการวิจัยและพัฒนายาและผลิตภัณฑ์เนื่องจากใช้เงินลงทุนสูงและอาจประสบความล้มเหลวในการทดลอง รวมถึงถูกปฏิเสธการใช้งานจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เราไม่แนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าว และระมัดระวังการลงทุนในดัชนี Russell 2000 เนื่องจากประเด็นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

โดยสรุป เรายังคงชื่นชอบการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่มีแนวโน้มเติบโตตามกระแสของเทคโนโลยี AI และแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีแนวโน้มเผชิญกับความเสี่ยงต้นทุนทางการเงินที่สูงและมีผลประกอบการที่ขาดทุน รวมถึงเสียเปรียบบริษัทขนาดใหญ่ในด้านเทคโนโลยี AI ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทขนาดเล็กที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต