แนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” คัมแบ็ก
นโยบายของทรัมป์ที่เน้นการเพิ่มภาษีนำเข้าจะสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมให้กับเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากการคุมเงินเฟ้อในช่วงสงครามเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากต่อการคาดการณ์
ประเด็นฮอตในช่วงนี้ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ คือ โดนัลด์ ทรัมป์ คัมแบ็กประธานาธิบดีคนที่ 47 แล้วตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ทีมวิจัยหลักทรัพย์ของหลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินไว้ว่า ความท้าทายของนโยบายเศรษฐกิจ Trump 2.0 นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่ถูกเสนอในการหาเสียงครั้งนี้ แม้จะดูเป็นการสนับสนุนตลาดหุ้น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง นโยบายการลดภาษีเป็นแนวทางที่นักลงทุนและธุรกิจยินดีตอบรับ แต่จะถูกหักล้างด้วยความเสี่ยงด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการขึ้นภาษีนำเข้า และผลกระทบจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้วตลาดอาจจะยังสับสนว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากนโยบายของทรัมป์
อย่างไรก็ตามแม้หลาย ๆ นโยบายของทรัมป์ดูเผิน ๆ แล้วจะส่งผลเชิงบวกต่อจิตวิทยาการลงทุน แต่ในทางปฏิบัติแล้วอาจมีอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถผลักดันนโยบายดังกล่าวผ่านสภาได้ง่ายนัก จากความยืดเยื้อที่จะถูกขัดขวาง โดยกลไกฟิลิบัสเตอร์ หรือบางนโยบายอาจให้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับที่ทรัมป์คาดหวัง เช่น
1. นโยบายการลดภาษี (TCJA) ลงเหลือ 15% แม้จะสามารถยื่นร่วมกับการอนุมัติงบประมาณในรูปแบบที่ เรียกว่า budget reconciliation ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ถูก filibuster ในวุฒิสภา อย่างไรก็ตามการผ่านกฎหมายดังกล่าวยังต้องการเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่ง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีวุฒิสมาชิกรีพับลิกันสายกลาง (moderate Republican senators) จะลังเลหรือไม่ ในการสนับสนุนการลดภาษี TCJA เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่สูงเกินกว่า 100% ของ GDP รวมทั้งการขาดดุลงบประมาณถึง 6% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับสมัยแรกของทรัมป์ที่ขาดดุลเพียง 3.4% สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงทางการคลังที่สูงขึ้น
2. ในด้านการค้าทรัมป์เสนอขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% และประเทศอื่น ๆ 10-20% ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้าและการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านต้นทุนและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และทำให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
3. ทรัมป์ต้องการให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวเพื่อช่วยผู้ส่งออก แต่นโยบายการค้าของเขากลับมีแนวโน้มที่จะ ทำให้ RESEARCH ดอลลาร์แข็งค่าเหมือนในสมัยแรก ที่เห็นได้จากดัชนีค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจาก 88 เป็น 96 จุด ปี 2018
จุดเด่นของทรัมป์กับนโยบาย PR-Driven คืออะไร การลดภาษีอย่างมาก, การนำงานกลับสู่สหรัฐฯ และการลด เงินเฟ้อ ซึ่งเป็นประเด็นที่ดึงดูดใจผู้สนับสนุน อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมีข้อสังเกตว่า นโยบายเหล่านี้ยังเป็นที่กังขาต่อ การบรรลุผล เนื่องจากมีการเน้นความคาดหวังในระยะสั้น แต่อาจขาดความยั่งยืนในระยะยาว
“หลายฝ่ายเชื่อว่าชัยชนะของทรัมป์จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น ผ่านนโยบายลดภาษี อย่างไรก็ตามประสบการณ์จากสมัยแรกของทรัมป์ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการอนุมัตินโยบายภาษี ต้องผ่านการพิจารณาจากสภาคองเกรสในช่วงของการอนุมัติงบประมาณ โดยในปี 2017 แม้ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนมกราคม แต่นโยบาย Tax Cuts ผ่านการพิจารณาในปลายปี ดังนั้นหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ผลกระทบต่อตลาดหุ้นอาจไม่เป็นบวกในทันที ในขณะที่ความเสี่ยงจากนโยบาย การขึ้นภาษีนำเข้าจะส่งผลลบทันที นอกจากนี้ภายหลังจากการเลือกตั้ง ตลาดมีแนวโน้มที่จะหันกลับมาให้น้ำหนักที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทในระยะสั้นมากขึ้น ส่งผลให้
จิตวิทยาเชิงบวกจากความคาดหวัง เรื่องนโยบาย Tax Cuts จะค่อย ๆ ลดบทบาทลงในช่วงต้นปีหน้า”
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้สถานการณ์แย่ลง คือ การขยายตัวของความขัดแย้งในระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามในตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้น สถานการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานอย่างมาก
ในอดีตสงครามในภูมิภาคเหล่านี้มักทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ ทั่วโลกเพิ่มขึ้น และทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1990 ที่เกิดขึ้นหลังจากอิรักบุกคูเวต ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นกว่า 170% ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งในขณะนั้น สหรัฐฯ ก็เผชิญกับการขึ้นของราคาพลังงานอย่างรุนแรง ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ
ดังนั้น นโยบายของทรัมป์ที่เน้นการเพิ่มภาษีนำเข้าจะสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมให้กับเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากการคุมเงินเฟ้อในช่วงสงครามเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากต่อการคาดการณ์ ในที่สุดนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่เสนอไว้ในการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อซ้ำซ้อนกับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและสงครามในระดับโลก ซึ่งนักลงทุนควรตระหนักถึงความเสี่ยงนี้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบาง อย่างไรก็ดีนักลงทุนสามารถติดตามอ่านรายการฉบับเต็มที่ www.bualuang.co.th