ผู้นำพลังบวก | พสุ เดชะรินทร์

ผู้นำพลังบวก | พสุ เดชะรินทร์

ถ้าสามารถเลือกได้ ท่านผู้อ่านอยากจะได้ผู้นำแบบไหน? แนวคิดผู้นำประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจจากทั้งคนทำงานกับนักวิชาการ คือผู้นำที่มีสไตล์ในการนำแบบ Positive Leadership หรือผู้นำพลังบวก

แนวคิดในเรื่องของผู้นำพลังบวก ถือกำเนิดในทางวิชาการอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา มาจากแนวปฏิบัติของผู้นำยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกัน การเติบโตของพนักงาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบมีส่วนร่วม มากกว่าผู้นำแบบเดิมที่มีหน้าที่สั่งการเพียงอย่างเดียว

ตัวตนของผู้นำพลังบวก เป็นผู้นำที่มองโลกในแง่บวก ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำได้ดี การแสวงหาโอกาสใหม่มากกว่าการมองแต่จุดอ่อนหรือสิ่งไม่ดี ผู้นำพลังบวกเน้นในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล จะเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นผู้ที่สื่อสารอย่างเปิดเผย โปร่งใส แสดงออกถึงความเข้าใจในตัวลูกน้อง (Empathy)

ผู้นำพลังบวก | พสุ เดชะรินทร์

ในการสนับสนุนพนักงานนั้น ผู้นำพลังบวกจะกระตุ้นให้พนักงานมองแต่สิ่งที่ดี เน้นการส่งเสริมจุดแข็งของพนักงาน จะพยายามผลักดันให้พนักงานมี Growth Mindset ให้ความสำคัญกับการเติบโต

มองความท้าทายหรือปัญหาเป็นโอกาสในการเติบโตและเรียนรู้ อีกทั้งยังกระตุ้นให้พนักงานได้ทดลอง กล้าเสี่ยง และทำสิ่งใหม่ เพื่อเป็นการพัฒนาตนเอง เพื่อให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า ก็จะนิยมเฉลิมฉลองความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นระยะ

ผู้นำที่มีคุณลักษณะของพลังบวกนั้น จะส่งผลดีต่อทั้งหน่วยงานและสมาชิก สามารถทำให้เกิดวัฒนธรรมและบรรยากาศในการทำงานที่ดี ทำให้พนักงานมีความมั่นใจและแรงจูงใจในการทำงาน พนักงานมีความผูกพัน รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และได้รับการยอมรับ 

การมีผู้นำที่มีพลังบวกยังช่วยสร้างวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกัน เน้นในการสื่อสารและการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิก ทำให้ทุกคนได้มีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งองค์กรหรือทีม

ผู้นำพลังบวก | พสุ เดชะรินทร์

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ผู้นำพลังบวกจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อควรระวังด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองสิ่งต่างๆ ในแง่ดีหรือบวกมากเกินไป ก็สามารถนำไปสู่ปัญหาหลายๆ ประการได้

พนักงานจะมุ่งเน้นแต่การสร้างและรักษาบรรยากาศในการทำงานที่ทุกคนจะต้องนำเสนอแต่สิ่งดี พยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดี แม้จะประสบกับปัญหาอยู่ หรือจากการที่เน้นแต่สิ่งดีๆ ตลอดเวลา 

ทำให้พนักงานหลีกเลี่ยงต่อปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้น ทั้งการทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาดังกล่าว หรือไม่ส่งต่อไปให้ผู้บริหารรับทราบเนื่องจากเป็นเรื่องไม่ดี แม้กระทั่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จ หรือคำชมเชยที่มากเกินไป

ถ้าถึงจุดหนึ่งพนักงานก็สามารถมองได้ว่าเป็นไปตามพิธีการและรูปแบบการทำงานในองค์กร จนขาดความจริงใจ ซึ่งก็นำไปสู่การขาดแรงจูงใจของพนักงานได้

ถึงแม้จะมีข้อต้องระวัง แต่เชื่อว่าผู้นำที่มีพลังบวก ก็ยังเป็นที่ต้องการในทุกระดับในองค์กรต่างๆ คำถามต่อมาคือ

แล้วจะพัฒนาผู้นำประเภทนี้ออกมาได้อย่างไร? จะเป็นผู้นำพลังบวกได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจาก

  1. มี Growth mindset ที่มีมองปัญหาและความยุ่งยากเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา
  2. เป็นผู้ฟังที่ดี การฟังที่ดีจะนำไปสู่การทำความเข้าใจต่อความต้องการของบุคคลต่างๆ (Empathy) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้นำพลังบวก 
  3. มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน โดยมีพื้นฐานจากความไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการสื่อสารอย่างเปิดเผย
  4. เมื่อให้ความเห็นก็จะต้องเป็นความเห็นในเชิงสร้างสรรค์ (Constructive Feedback) ที่เน้นในการพัฒนา สนับสนุน และให้กำลังใจ เป็นความเห็นที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้
  5. เฉลิมฉลองความสำเร็จ เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จเล็กหรือใหญ่ เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นความสำเร็จ และทำให้สมาชิกหรือผู้เกี่ยวข้องได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

นอกเหนือจากผู้นำพลังบวกแล้ว แนวคิดทางด้านผู้นำยุคใหม่ ยังมีผู้นำอีกประเภทที่ตรงกันข้ามกับผู้นำพลังบวก และเป็นผู้นำที่ควรหลีกเลี่ยงเลย นั้นคือ ผู้นำพลังลบ (Negative Leadership) ซึ่งเป็นผู้นำที่สนใจแต่ตนเอง ชอบใช้อำนาจ ขาดความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น มุ่งเน้นการกล่าวร้ายหรือพูดถึงสิ่งไม่ดีของผู้อื่นตลอดเวลา 

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะไม่แสดงความรับผิดชอบและกล่าวโทษผู้อื่นแทน ผู้นำประเภทนี้ถือเป็นผู้นำที่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรจะเลี่ยง และถ้าเลือกได้ก็เลือกทำงานร่วมกับผู้นำพลังบวกแทน