สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จี้แบรนด์ยึด “จรรยาบรรณวิชาชีพ” ทำแคมเปญตลาด
#แบนลาซาด้า ผลกระทบก๊อกแรก ๆ จากการทำตลาด ผลิตคอนเทนต์ไม่สร้างสรรค์ ลบแอปพลิเคชั่น เกมที่ผู้บริโภคไม่พอใจแบรนด์ แสดงพลังต่อ ล่าสุด สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ กระตุ้นให้นักการตลาด มีความรับผิดชอบในวิชาชีพมากขึ้น
ถือเป็นบทเรียนราคาแพง! สำหรับการทำตลาดของแพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส “ลาซาด้า” เมื่อแบรนด์กำลังถูกตั้งคำถามถึงการวางแผน กำหนดกลยุทธ์การตลาดดับเบิ้ลเดย์ 5.5 โดยมีเอเยนซีรับบรีฟ แล้วดึง “นาราเครปกะเทย” มาสร้างคอนเทนต์ แต่การตีโจทย์ที่ตื้นเขิน ทำคลิปที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเผยแพร่สู่สาธารณะ กลายเป็นความผิดพลาดมหันต์ เมื่อผู้บริโภคส่วนหนึ่งไม่พอใจ พร้อมตั้ง #แบนลาซาด้า
แม้แบรนด์ เอเยนซีจะออกแถลงการณ์ “ขอโทษ” ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เรื่องราวยังไม่จบง่ายๆ เพราะครั้งนี้ ผู้บริโภคบางส่วนที่ไม่พอใจ ติ ก่นด่าแบรนด์ ร้ายแรงกว่านั้นคือการ “ลบแอป” ขอบายในที่ชอปปิงผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้า
ผลกระทบต่อแบรนด์ยังขยายวงกว้างต่อ เมื่อบรรดาสมาคมต่างๆที่คร่ำหวอดในวงการธุรกิจ การตลาด โฆษณา ออกแถลงการณ์กระตุกให้ แบรนด์ลาซาด้า เอเยนซีที่รับบรีฟไปทำงาน ต้องมี “จรรยาบรรณ” และ “ความรับผิดชอบ” มากขึ้น
ก่อนหน้านี้ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ สนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์อันเป็นเลิศ แต่ต้องมาพร้อมด้วยจรรยาบรรณที่ดี บนหลักการพื้นฐานจรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณา
ล่าสุด สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย(MAT)ออกแถลงการณ์ในทิศทางเดียวกัน โดยเนื้อหาระบุว่า สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมวิชาชีพที่ก่อตั้งขึ้นมาอย่างยาวนานเป็นเวลากว่า 55 ปี และตลอดมา ทางสมาคมการตลาดฯมุ่งสนับสนุนในการส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานนักการตลาดไทย ทั้งในเชิงองค์ความรู้ทางธุรกิจ และจรรยาบรรณอันพึงปฏิบัติ
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดเป็นกระแสขึ้นในปัจจุบัน เกี่ยวกับหลากหลายงานโฆษณาสื่อสารการตลาดที่อาจมีการใช้ภาพ เสียง หรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม ไม่สร้างสรรค์ และอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงลบทางสังคม สมาคมการตลาดฯขอแสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้องค์กรและบุคลากรด้านการตลาดมุ่งเน้นในการทำการตลาดเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์และไม่ขัดต่อ “จรรยาบรรณวิชาชีพนักการตลาด” ที่ทางคณะที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด และอดีตนายกสมาคมการตลาดฯ ได้ร่วมกันร่างเอาไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ กล่าวคือ
1. นักการตลาดไทยต้องมีจิตตระหนักในภาระหน้าที่และบทบาทที่จะช่วยกันเสริมสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยและของประเทศไทยในตลาดโลก
2. ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดด้วยคุณธรรมและความรับผิดชอบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยระมัดระวังไม่ให้มีผลกระทบในทางลบต่อจารีตประเพณีขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมอันดีงามของประชาชนคนไทยและชาติไทย
3. รับผิดชอบต่อผลการกระทำของตน และพยายามทุกวิถีทางให้มั่นใจว่าการตัดสินใจหรือการกระทำใดๆของตนเป็นไปเพื่อบ่งชี้ตอบสนองและสร้างความพึงพอใจให้แก่กลุ่มสาธารณะที่เกี่ยวข้องโดยรวม
4. ปฏิบัติตามกฎหมายและค่านิยมที่ดีทางสังคม
5. ตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ผู้ซื้อ ผู้ขาย ลูกจ้าง พนักงานและสาธารณะชนทั่วไป
6. กระทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้ร่วมอาชีพและบุคคลอื่น
7. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณนักการตลาดละเว้นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
8. ยินดีเผยแพร่ความรู้ความสามารถในวิชาชีพของตนเพื่อสาธารณะประโยชน์
การกระทำใด ๆ ที่ปราศจากความรับผิดชอบและขัดต่อจรรยาบรรณและศีลธรรมอันดีของวิชาชีพ อาจก่อให้เกิดผลเชิงลบแก่สังคมและธุรกิจได้ สังคมและผู้บริโภคมีสิทธิพิจารณาความเหมาะสมที่จะยุติการสนับสนุนต่อไป องค์กรและผู้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรจะมีความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดอันเนื่องมาจากการกระทำหรือกิจกรรมเหล่านั้น และสมควรที่จะแสดงความรับผิดชอบอย่างเปิดเผยและจริงใจ