“เศรษฐกิจโลก” ปั่นป่วน ทุบซ้ำวิกฤติ “ไทย”
เศรษฐกิจโลกป่วน ตอกย้ำให้ “ไทย” ต้องเร่งหามาตรการตั้งรับวิกฤติให้ดี ก่อนกัดกร่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ราคาสินทรัพย์ทั่วโลก ทั้ง “หุ้น น้ำมัน และทองคำ” ทรุดตัวลงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หุ้นทุกกลุ่มในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับตัวลง นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานตามการดิ่งลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก
ซิตี้กรุ๊ป คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะทรุดตัวลงแตะระดับ 65 ดอลลาร์ในปลายปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งนับเป็นสัญญาณร้ายของทั้งโลก
นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการเกิด “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ” เพิ่มมากขึ้น หลัง "ธนาคารกลางสหรัฐ" (เฟด) ส่งสัญญาณเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว โดยเฟดสาขาแอตแลนตา เผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.1% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.0% ทั้งส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 2 รุนแรงกว่าไตรมาส 1 ซึ่งหดตัว 1.6% นั่นแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
เมื่อมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ยังไม่สามารถต้านทานแรงเหวี่ยงจากเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก แล้วประเทศกำลังพัฒนาอีกครึ่งค่อนโลกจะรับมือได้มากแค่ไหน
กลับมามองในประเทศไทย เผชิญทุกวิกฤติที่โลกเจอ ทั้งเงินเฟ้อ น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง โรคระบาด ขณะที่ค่าเงินบาทดิ่งลงสูงสุด ท่ามกลางขีดการแข่งขันของไทยที่ร่วงลง ลดทอนความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน วิกฤติเหล่านี้กระทบกับการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจประเทศเป็นอย่างมาก
ขณะที่ภาคส่งออก เริ่มแสดงความกังวล ถึงปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เริ่มต้นจากสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารวมถึงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในแต่ละประเทศทำให้เกิดความกังวลว่า ความต้องการของสินค้าจะชะลอตัวลง ที่ผ่านมาสหรัฐมีปัญหา "เงินเฟ้อ" และปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว และจะปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้ง ทำให้เงินไหลเข้าสหรัฐจากเดิมที่เงินไหลออกจากสหรัฐ ทำให้ค่าเงินหลายประเทศแข็งค่า เงินไหลเข้าสหรัฐก็ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลง
แม้ค่าเงินบาทที่อ่อนลง จะมีผลดีต่อการส่งออก แต่สินค้าหลายกลุ่มที่มีสัดส่วนนำเข้าวัตถุดิบสูง จะได้รับผลกระทบเช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ส่งออกกลุ่มดังกล่าวจะกำหนดราคาคำสั่งซื้อได้ยากจากสถานการณ์ “ค่าเงินบาทผันผวน” ในทิศทางอ่อนค่าที่ทำให้ต้นทุนนำเข้าแพงขึ้น
ส่วนผู้ส่งออกอาหารแปรรูปมีต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า 30% เช่น เหล็กผลิตกระป๋อง ซึ่งต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้นมาจากค่าเงินบาทที่อ่อน “ไทย” ต้องเร่งหามาตรการตั้งรับวิกฤติครั้งนี้ให้ดี หากไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่ดีพอ หรือมีมาตรการสกัดความเสี่ยง วิกฤติเหล่านี้จะยิ่งกัดกร่อนประเทศส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว