ยิ่งช้อป ยิ่งชอบ สไตล์ ‘Hops’

ยิ่งช้อป ยิ่งชอบ สไตล์ ‘Hops’

เคยมีผลสำรวจผู้บริโภคพบว่าการทำตลาดโดยใช้วิธี “สะสมแต้ม” นั้นได้ผลดี สามารถสร้าง ความภักดี ต่อแบรนด์สินค้า

เพราะเมื่อลูกค้าได้แต้มสะสมจากการซื้อสินค้าหรือบริการในครั้งแรกแล้วมีความพึงพอใจ ก็มีโอกาสที่พวกเขาจะกลับมาซื้อสินค้าและบริการอีกในครั้งต่อไป แต่ในทางกลับกันนั้น โลกใบนี้ก็ไม่ได้สวยเสมอไป


"ทุกร้านค้าต้องการโลยัลคัสโตเมอร์ เลยออกระบบสะสมแต้มออกมา ส่วนใหญ่ก็ทำกับร้านค้าของตัวเอง ซึ่งถ้าเรามองฝั่งเบเนฟิทของลูกค้าบ้าง ถ้าเขาได้ร้านเอ 20 พ้อยท์ ขณะที่ได้ร้านบีมา 30 พ้อยท์ ได้ร้านซีมา 35 พ้อยท์ แต่สุดท้ายลูกค้ากลับไม่สามารถเอาพ้อยท์ไปใช้อะไรได้เลยเพราะแต้มมันไม่เคยเต็มสักร้าน"

นี่คืออินไซต์ที่ “ฉัตรตราภรณ์ เพชรดีมณีงาม”(กิฟท์) และ“ศรัณย์ ลีลาเวทพงษ์”(รัน) ค้นพบและนำไปสู่การร่วมกันก่อตั้ง ฮอบปส์ (Hops) เพื่อพัฒนาระบบที่่จะช่วยตอบโจทย์ดังกล่าว


“ส่วนใหญ่ที่นักช๊อบกังวลก็คือถ้าซื้อของออนไลน์เขาก็จะไม่ได้เห็นหรือได้ทดลองสินค้าพวกเขาก็เลยคิดพัฒนาแอพที่ทำให้สามารถเลือกชมสินค้าจากที่ไหนก็ได้ แต่หากอยากเห็นของจริงแค่เขาเดินเข้าในร้าน เขาก็จะได้แต้มที่สามารถนำเอาไปแลกส่วนลดเงินสดกับร้านค้าที่ร่วมรายการได้ทันที"


ซึ่งต้องบอกว่าร้านค้าที่พวกเขาได้พูดคุยหาข้อมูลมาโดยตลอดก็คือ ร้านค้าที่ขายสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่น โดยปริยายเมื่อพวกเขาต้องการเจาะจงกลุ่มให้ชัดในเบื้องต้นจึงเริ่มที่ร้านค้าแฟช้่น


"ระหว่างที่พัฒนาแอพซึ่งยังไม่เสร็จดี เราได้นำเอาไอเดียนี้เข้าแข่งในโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ทำให้เราได้โค้ชมาช่วยให้คำปรึกษา นำไปสู่การปรับปรุง จนออกมาเป็นไฟนอลโปรดักส์ "


ถามว่าทำไมต้องเริ่มต้นที่ร้านค้าออฟไลน์ ในเมื่อเวลานี้ร้านค้าออนไลน์ถือเป็นดาวรุ่งที่กำลังมาแรงสุดๆ


"แต่ในความเป็นจริงแล้ว มาร์เก็ตไซส์ระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ถือว่าออฟไลน์ยังมีอยู่มหาศาลในตลาดเมืองไทย คือมีอยู่ประมาณ 90% ของวอลลุ่มยอดขายทั้งหมด หมายถึงเราเลือกเข้าไปเล่นในตลาดที่มันยังไม่ดุเดือดมากนักเพราะอีคอมเมิร์ซก็อย่างที่รู้ มีเจ้าตลาดเล่นอยู่เยอะแล้ว"


เป้าหมายของพวกเขา จะเริ่มที่ร้านค้าออฟไลน์ก่อน จากนั้นในอนาคตจะค่อย ๆก้าวไปสู่ออนไลน์ พวกเขาบอกว่าเพราะโลกก้าวสู่ยุคของ Omni Channel ซึ่งธุรกิจต้องพยายามเข้าถึงลูกค้าจากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์ หรือออฟไลน์ ฯลฯ


สุดท้ายแล้วเมื่อธุรกิจเติบโตมากขึ้น ไม่ว่าร้านค้าออฟไลน์เองก็ต้องขยายไปทางช่องทางออนไลน์ และร้านค้าออนไลน์เองก็ต้องเปิดหน้าร้านออฟไลน์ เพื่อให้ลูกค้าได้มาทดลอง ได้มาเห็น ได้มาจับต้องสินค้าจริงๆ


"ถ้ามองในแง่อัตราของลูกค้าที่เดินเข้าร้านแล้วซื้อของก็พบว่าร้านค้าออฟไลน์มีตัวเลขที่สูงกว่า เวลาคนเดินเข้าไปในร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าโอกาสในการซื้อจะสูงถึง 20-30% ขณะที่การคลิกเข้าไปในออนไลน์ของลูกค้าส่วนใหญ่ก็แค่ดูแล้วก็ออก มีการสำรวจพบว่ามีคนซื้อผ่านช่องทางออนไลน์แค่ 3% เท่านั้น"


...เป็นคำยืนยันอีกครั้งว่าทำไมต้องเริ่มที่ออฟไลน์


ทั้งได้สรุปอีกครั้งว่ามาร์เก็ตทาร์เก็ตของฮอบปส์ เบื้องต้นในฝั่งของร้านค้าออฟไลน์ จะเริ่มที่ร้านค้าแฟชั่นในย่านศูนย์กลางแฟชั่น นั่นคือ “สยามสแควร์” ที่ต้องโฟกัสก็เพื่อหวังจะปรับปรุงพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดแบบค่อยเป็นค่อยไป ถัดจากนั้นก็จะขยายโซนขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ ส่วนฝั่งของลูกค้าที่มองไว้คือคนยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่กับมือถือ คือมีอายุระหว่าง 18-35 ปี


พวกเขายอมรับว่าทางด้านเทคนิคการเขียนโปรแกรมถือว่ามีความยากอยู่ระดับหนึ่ง แต่เพราะพวกเขาล้วนเรียนจบด้านวิศวะคอมพิวเตอร์มาด้วยกันทั้งคู่ ต่างกันตรงที่ กิฟท์จบจากรั้วจามจุรี ขณะที่ รันจบจากรั้วนนทรี ดังนั้นที่ยากที่สุดสำหรับพวกเขาทั้งสองจึงเป็นเรื่องของบิสิเนส และหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะถูกใจลูกค้า?


“ที่ดีที่สุดก็คือ พวกเราต้องปรับตัวได้เร็ว พอได้รับฟีดแบ็คหรือได้รับอะไรมาใหม่ ก็ต้องรีบเอากลับมาคิด และหาวิธีว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด”


ฟีดแบ็คที่ได้รับเป็นอย่างไร? พวกเขาบอกว่าทางฝั่งร้านค้า เมื่อได้เข้าไปแนะนำระบบส่วนใหญ่ต่างพูดว่ามีความแปลกไม่เคยเห็นมีใครทำ คือมองว่าจะช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าร้านได้จริง และเรียกว่าเมื่อนำเสนอขายระบบไป 100 ราย ก็มีร้านค้ามากถึง 90 รายที่ตอบรับเอาด้วยกับระบบของฮอบปส์


"เราจะให้ทางร้านค้าได้ลองโหลดแอพเอาไปเล่นดู และเราก็จะถามว่าเขาชอบไหม พอได้กดแล้วเขางงหรือเปล่า เพราะร้านค้าเขามีความสัมพันธ์มีความสนิทสนมกับทางฝั่งลูกค้ามากกว่าเรา เขาจะรู้ว่าลูกค้าแฟชั่นมีพฤติกรรมแบบไหน ชอบอะไร"


ต้องบอกว่าแอพฮอบปส์บน iOS และ Android เสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถดาวน์โหลดได้โดยพิมพ์คำว่า HopsNow


"ภายในสิ้นปีนี้ พวกเราตั้งเป้าไว้ว่า จะหาร้านค้าเข้ามาร่วมในระบบให้ได้ในระดับหนึ่ง ที่ตั้งใจไว้คือต้องได้ร้านค้าสัก 30-50 แห่ง แล้วก็จะลอนซ์ทั้งฝั่งลูกค้าด้วยซึ่งจะเป็นซอฟท์ลอนซ์เล็ก ๆเอาไว้คอยพรูฟความคิดของเราไปพร้อมๆด้วย"


ซึ่งต้องบอกว่าเวลานี้ฮอบปส์ได้ร้านค้าเข้าร่วมระบบแล้ว 30 ร้านค้า ซึ่งถ้าใครผ่านไปมาย่านสยามสแควร์จะสังเกตุง่ายๆ ตรงที่จะมีสติ๊กเกอร์ที่แปะหน้าร้านเป็นคำว่า “Hops Available Here”


อย่างไรก็ดี ก็มีอยู่บางร้านค้าที่อยู่ในระบบฮอบปส์ที่เปิดสาขาหลายแห่ง และอยู่นอกโซนสยามสแควร์ เช่น เอสโอเอส ที่มีสาขาทั้งหมด 5 แห่ง โดย 3 แห่งนั้นตั้งที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ,ที่เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ รวมถึงที่ย่านทองหล่อด้วย ก็กลายเป็นว่าฮอบปส์ไปเปิดบริการอยู่นอกโซนจากที่เคยได้โฟกัสไว้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจเช่นกัน


เมื่อให้พูดถึงไมล์สะโตนของฮอบปส์ พวกเขาบอกว่าที่วางแผนก็คือ ในปีหน้า จะต้องมีร้านค้าแฟชั่นเข้าร่วมในระบบถึง 200 ร้านค้า และคาดหวังจำนวนลูกค้าที่โหลดแอพไว้ที่ประมาณ 2 หมื่นคน ซึ่งในจำนวนนี้จะมีลูกค้าที่แอคทีฟจริงๆราว 40%


"พวกเราคิดว่าจะสเต็ปไปเรื่อยๆ ในปีหน้านอกจากร้านค้าแฟชั่น เราก็คิดจะขยายกลุ่มธุรกิจออกไปเป็นอาหาร เป็นเครื่องสำอางเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้มากยิ่งขึ้น ส่วนในปีที่สามฮอบปส์ก็น่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 500-700 แห่ง "


เมื่อถามถึงแผนเรสฟันด์ พวกเขาบอกว่าก็มีเรื่องนี้อยู่ในใจ แต่ก่อนจะถึงช่วงเวลานั้น ฮอบปส์ก็ต้องพิสูจน์ความสำเร็จให้ได้เสียก่อน คือไม่ว่าจะเป็นฝั่งร้านค้าหรือฝั่งลูกค้าต้องเห็นประโยชน์และเกิดการซื้อขายกันจริงๆ

สนุกสนาน & แข่งขัน


ถ้าพูดถึงคีย์เวิร์ดแห่งความสำเร็จ สำหรับฮอบปส์แล้วจะมีอยู่ 2 คำด้วยกัน ได้แก่ “สนุกสนาน” และ “การแข่งขัน”


แม้ว่าหลายคนอาจพูดว่าเทคโนโลยีจะดิสรับโลกใบนี้ หรือมาเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้คนให้แตกต่างไปจากเดิม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะการทำให้ผู้คนยอมรับความแปลกใหม่ ความแตกต่างไม่ง่ายเลย ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกำลัง


"ประเด็นสำคัญก็คือ บูลทูธยังไม่เป็นอะไรที่คนไทยคิดจะเปิดทุกวัน แม้แต่พวกเราเองก็ยังไม่คิดจะเปิดมันตลอดเวลาเหมือนกัน ดังนั้นพวกเราเลยต้องพุชกันหนักหน่อย ต้องให้คนไทยเรียนรู้ และเข้าใจว่าฮอบปส์มีประโยชน์อย่างไรต่อชีวิตของเขา "


นอกจากนั้น ระบบก็ต้องมีความสนุกสนาน ได้มีการแข่งขันกันกับเพื่อนๆ ทำนองเดียวกับเกมโปเกมอน โกที่เคยฮอตฮิตเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากเป็นเกมที่คนได้เล่น ได้แข่งขันกับเพื่อนๆ


"แต่ไม่นานมันก็ดร็อบลงไป เพราะพอคนเก็บเลเวลได้ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรต่อ ขณะที่ฮอบปส์เป็นระบบพ้อยท์ซิสเต็ม เมื่อลูกค้าเขาได้พ้อยท์มาแล้ว และเก็บสะสมไปเรื่อยๆจนได้แต้มมากขึ้น สุดท้ายเขาก็จะได้รับของรางวัล"


แน่นอนว่า ผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจริงๆ ต้องเป็นคำตอบสุดท้าย