ธ.ก.ส.เผยสินเชื่อชะลอหนี้เสียพุ่ง

ธ.ก.ส.เผยสินเชื่อชะลอหนี้เสียพุ่ง

ธ.ก.ส.เผยสินเชื่อรอบ5เดือนแรกปี62ขยายตัวชะลอ โดยมียอดเพิ่มสุทธิกว่า 4 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนปล่อยได้เพิ่มราว 1 หมื่นล้านบาท ยอมรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เชื่อช่วงปลายปีจะปล่อยได้มากขึ้น ขณะที่ ยอดหนี้เสียขยับเป็นกว่า 4.5% จาก 3.9%

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในระยะที่ผ่านมามีอัตราชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตั้งแต่ต้นปีบัญชีหรือเดือนเม.ย. - 28 ส.ค. 2562 มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิจำนวนประมาณ 4 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนยอดสินเชื่อสุทธิจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท

"การปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวลง เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาภัยภิบัติต่างๆ ทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง รวมถึงมีการพักชำระหนี้เกษตรกร ทำให้การปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวยากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะมีการประเมินผลแผนดำเนินงานในปีนี้อีกครั้งในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งครบ 6 เดือนแรกของการดำเนิน แต่ขณะนี้ยังยืนยันว่าการปล่อยสินเชื่อในปีนี้จะยังเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรและเอสเอ็มอีเข้ามาขอสินเชื่อมากขึ้น

"ปกติแล้ว ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อได้ช้า เพราะเป็นช่วงฤดูกาลเริ่มเพาะปลูกไปแล้ว และสินเชื่อจะมาเริ่มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็ยอมรับว่าในปีนี้ สินเชื่อชะลอตัว ตกท้องช้างนานกว่าปกติ แต่ก็มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้า"นายอภิรมย์ กล่าว

ขณะที่ หนี้เสียของธนาคารอยู่ที่ 4.5% เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 3.9% แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ถือว่าไม่สูงมาก เพราะเป็นไปตามรอบการผลิตของสินค้าเกษตร และเมื่อถึงช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะมาผ่อนชำระ ทำให้หนี้เสียลดลง ส่วนเงินฝากปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท

เขายังกล่าวด้วยว่า สำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมนั้น ธนาคารได้มีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยใน 13 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้มีการพักชำระหนี้เงินต้นเป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีก 5.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อใช้ในการชีวิตประจำวันรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ปลอดดอกเบี้ย 3 ปีแรก ส่วนที่ที่เหลือคิดอัตราดอกเบี้ย MRR 6.875% และสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูการผลิต วงเงินไม่เกินรายละ 5 แสนบาท ระยะเวลาผ่อนนาน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย MRR

ทั้งนี้ ธนาคารจะมีการสำรวจความเสียหายกับเกษตรกรในพื้นที่ได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งหากพบว่าเกษตรกรได้รับความเสียหายสูง ก็จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเติม เช่นการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0.1% เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งก่อนหน้านี้ และหากวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ก็พร้อมพิจารณาขยายวงเงินสินเชื่อออกไปได้เช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันวงเงินดังกล่าวใช้ไปแล้ว 3 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม ยืนยันปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น จะไม่ส่งผลต่อผลผลิตที่ใน 13 จังหวัดืที่ประสบภัยมีการปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว โดยเฉพาะข้าวเหนียว ที่สถานการณ์ราคาเริ่มคลี่คลายไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะติดตามสถานการณ์เพื่อสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นอีกครั้งว่ามีมากน้อยเพียงใด

"สถานการณ์ข้าวเหนียวเริ่มคลี่คลายไปแล้ว ฉะนั้นน้ำท่วมที่เกิดขึ้น คงไม่น่ามีผลต่อราคาพืชผลดังกล่าวอีก แต่เราจะดูอีกครั้ง"นายอภิรมย์ กล่าวและยืนยันว่า มาตรการที่ออกมานั้น สามารถดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันที โดยไม่ต้องรอการสำรวจแต่ละจังหวัด โดยเกษตรกรมาติดต่อที่สาขาเพื่อดำเนินการได้ทันที