การเงิน
SCB ส่องธุรกิจการบิน ของไทย ปีนี้ ส่อติดลบ 60% รายได้ดิ่ง เหลือ 1.21แสนล้าน
อีไอซี ส่อง ธุรกิจการบินปีนี้ทั่วโลกดิ่ง หลัง Lock down ปิดเมืองคาดฉุดรายได้สายการบินทั่วโลกติดลบ 55% ขณะที่ผู้โดยสายติดลบ 48% ขณะที่ไทย คาดติดลบแรงถึง 60% ทำให้คาดรายได้มาแตะที่ระดับ 1.21แสนล้านบาทปีนี้ หลังคาดนักท่องเที่ยวต่างชาติหาย
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ระบุว่า ธุรกิจการบินถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมาตรการ lock down ในหลายประเทศทั่วโลกส่งผลให้สายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากและถึงขั้นหยุดให้บริการโดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างประเทศ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมิน ณ วันที่ 14 เม.ย. 2020 ว่าปริมาณการขนส่งผู้โดยสารทั่วโลกในปี 2020 คาดลดลงกว่า -48% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ขณะที่รายได้ของสายการบินทั่วโลกจะหายไปมูลค่า 3.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวราว -55% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ในส่วนของไทย COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจการบิน จนทำให้หลายสายการบินต้องหยุดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่เดือน มี.ค. 2020 จนอย่างน้อยถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2020 โดยในเส้นทางระหว่างประเทศ สายการบินสัญชาติไทยต่างหยุดให้บริการบินทั้งหมด เช่น Thai lion air ในช่วง 25 มี.ค. – 30 มิ.ย. 2020, Thai airways ในช่วง 25 มี.ค. – 31 พ.ค. 2020, Thai AirAsia ในช่วง 27 มี.ค. – 24 เม.ย. 2020 เป็นต้น (ดังรูปที่ 1)
โดยเป็นผลจากปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางระหว่างประเทศที่เริ่มปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 2020 และปรับลดลงมากยิ่งขึ้น
EIC ประเมินว่า รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยในปี 2020 มีแนวโน้มหดตัวราว -60%YOY มาอยู่ที่ราว 1.21 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างประเทศจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงกว่า -67%YOY เหลือเพียง 13.1 ล้านคน
. ซึ่งเป็นผลจากมาตรการห้ามเดินทางเข้า-ออกประเทศของรัฐบาลหลายประเทศ ความกังวลของนักเดินทางกับการติดเชื้อ และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยที่กดดันให้ความต้องการเดินทางฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การขาดรายได้จากการหยุดให้บริการจะส่งผลให้สภาพคล่องของสายการบินสัญชาติไทยส่วนใหญ่ลดลงและจะเพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ซึ่งมีสัดส่วนราว 30% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนได้เพียงประมาณ 3 เดือน
วิธีที่สายการบินสัญชาติไทยได้เร่งปรับตัว ได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ เช่น ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายพนักงาน เป็นต้น การให้เปลี่ยนเที่ยวบินแทนการคืนค่าโดยสาร การหารายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจอื่น ๆ และการเตรียมกลับมาให้บริการในประเทศ
ในต่างประเทศ ภาครัฐของแต่ละประเทศได้ให้ความช่วยเหลือธุรกิจสายการบินในหลายรูปแบบ ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในธุรกิจการบิน การสนับสนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการบิน และการพิจารณาให้เงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง
สำหรับไทย ภาครัฐต้องพิจารณาให้รอบด้าน ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ แก่สายการบินที่ได้รับผลกระทบ ทั้งรูปแบบและระดับในการช่วยเหลือที่เหมาะสม ประโยชน์ที่จะได้รับ รวมถึงนัยต่อฐานะการคลังของประเทศที่มีจำกัดด้วย