เอฟทีเอหนุนส่งออกสินค้าปศุสัตว์พุ่ง ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

เอฟทีเอหนุนส่งออกสินค้าปศุสัตว์พุ่ง ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยสินค้าปศุสัตว์ยังส่งออกพุ่งแรง แม้ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ยอดไตรมาสแรกทำได้ 1,173 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 18% ส่งออกไปคู่เจรจาเอฟทีเอพุ่งทุกตลาด ทั้งญี่ปุ่น อาเซียน จีน ฮ่องกง

เมื่อวันที่ 17 ..63  นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะถดถอยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่สินค้าเพื่อการบริโภคยังเป็นที่ต้องการในตลาด ซึ่งไทยมีสินค้าปศุสัตว์เป็นสินค้าดาวเด่น

โดยจากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) พบว่า ไทยสามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ เช่น ไก่แปรรูป ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ไข่ไก่ และสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ สู่ตลาดโลกถึง 1,173 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18% ตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวเกือบทุกตลาด เช่น ฮ่องกง ส่งออก 45 ล้านเหรียญสหรัฐ  เพิ่ม 94% อาเซียน ส่งออก 245 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 71% จีน ส่งออก 84 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 44.5% และญี่ปุ่น ส่งออก 475 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10% ซึ่งทั้ง 4 ประเทศนี้ เป็นประเทศที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย มียอดส่งออกรวมกันสัดส่วนกว่า 72% ของการส่งออกทั้งหมด โดยอีก 23% ส่งออกไปสหภาพยุโรป มูลค่า 271 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 0.50%

สำหรับสินค้าที่ส่งออกได้ดีในช่วงดังกล่าว เช่น ไก่แปรรูป ส่งออก 652 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 1.3% มีสัดส่วน 56% ของการส่งออกทั้งหมด ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออก 230 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 29% มีสัดส่วน 20% สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออก 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 597% มีสัดส่วน 2% และสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ ส่งออก 203 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 116.5% มีสัดส่วน 17%

ปัจจัยที่ทำให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการแข่งขัน ส่วนหนึ่งมาจากความตกลงเอฟทีเอที่ไทยมีกับคู่เจรจาอยู่ 13 ฉบับ 18 ประเทศ โดยมี 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา บรูไน และฮ่องกง ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ให้ไทยทุกรายการแล้ว

158970273036

ทั้งนี้ หากดูเฉพาะปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไป 18 ประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอได้รวม 3,393 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 82% ของการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมดของไทย และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนมีผลใช้บังคับ พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยขยายตัวขึ้นถึง 785% หากแยกรายตลาด พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น จีน เพิ่ม 8,013% อาเซียน เพิ่ม 4,753% ออสเตรเลีย เพิ่ม 1,600% เกาหลีใต้ เพิ่ม 752% และญี่ปุ่น เพิ่ม 419% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้บางประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และอาเซียน เริ่มฟื้นตัวและผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง รวมถึงมีความต้องการสินค้าอาหารที่สูงขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ กำลังเผชิญกับสงครามการค้าและโรคอหิวาต์ในสุกรระบาด จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ได้ แต่ผู้ประกอบการต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตให้สินค้าปศุสัตว์ไทยมีความสะอาดปลอดภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และทำให้สินค้าปศุสัตว์ไทยเป็นที่นิยมในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น