ธุรกิจธนาคารไทยลงทุนไอทีพุ่ง คาดปี 64 ทะลุ 5.2 หมื่นล.

ธุรกิจธนาคารไทยลงทุนไอทีพุ่ง คาดปี 64 ทะลุ 5.2 หมื่นล.

“การ์ทเนอร์”ชี้โควิดฉุดลงทุนลด-ปีหน้าฟื้น ธุรกิจแบงก์ทั่วโลก จ่อลงทุน ทะลุ 5 แสนล้านดอลล์

“การ์ทเนอร์” ประเมิน ธุรกิจธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ไทย คาดใช้จ่ายด้านสินค้า บริการเทคโนโลยี ระบบไอที สะพัด 48.9 พันล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 1.7% จับตาปี 2564 โหมลงทุนไอทีเพิ่ม เชื่อทะลุ 5.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ภาพรวมทั่วโลกไม่ต่าง ลงทุนไอทีลดลง 4.7% ปี 64 คาดเพิ่มขึ้นแตะ 5.4 แสนล้านดอลลาร์ 

แม้ต้องเผชิญข้อจำกัดมากมายในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่แหล่งที่มารายได้ใหม่ๆ จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยพลิกฟื้นและขยายธุรกิจธนาคารบริษัทหลักทรัพย์ไทย “การ์ทเนอร์ อิงค์” เปิดบทวิเคราะห์ แม้มูลค่าใช้จ่ายไอทีของธุรกิจธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงราว 4.7% หรือคิดเป็นมูลค่า 514 พันล้านดอลลาร์ ตามการคาดการณ์ของ “การ์ทเนอร์ อิงค์” แต่คาดว่าปี 2564 การลงทุนจะฟื้นกลับมา

ขณะที่ การ์ทเนอร์ คาดการณ์ใช้จ่ายด้านสินค้าและบริการทางเทคโนโลยี รวมไปถึงระบบไอทีสำหรับการดำเนินงานภายในองค์กรของธุรกิจธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ของประเทศไทยในปีนี้ จะมีมูลค่าราว 48,920 ล้านบาท โดยลดลงจากปีที่แล้ว 1.7% และคาดว่าจะกลับมาพลิกฟื้นในปี 2564 ด้วยอัตราการเติบโตที่ 6.6% หรือ 52,133 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็น บริการสำหรับองค์กร ปี 2563 อยู่ที่ 6,780 ล้านบาท คาดปี 2564 ที่ 7,141 ล้านบาท ด้านซอฟต์แวร์ระดับองค์กร ปี 2563 อยู่ที่ 5,635 ล้านบาท คาดปี 2564 ที่ 6,352 ล้านบาท บริการด้านไอที ปี 2563 อยู่ที่ 10,899 ล้านบาท คาดปี 2564 ที่ 10,894 ล้านบาท ด้านอุปกรณ์หรือดีไวซ์ ปี 2563 อยู่ที่ 6,031 ล้านบาท คาดปี 2564 ที่ 7,133 ล้านบาทบริการด้านการสื่อสาร ปี 2563 อยู่ที่ 14,788 ล้านบาท คาดปี 2564 ที่ 15,213 ล้านบาท ขณะที่ ระบบดาต้าเซ็นเตอร์ ปี 2563 อยู่ที่ 4,787 ล้านบาท คาดปี 2564 ที่ 5,400 ล้านบาท

นายเจฟฟ์ เคซี่ย์ นักวิเคราะห์อาวุโสของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า โควิด-19 ไม่เพียงเป็นสาเหตุ ที่ส่งผลให้มูลค่าใช้จ่ายด้านไอทีในแวดวงธนาคารและหลักทรัพย์นั้นเกิดความผันผวน แต่ยังเป็นตัวกำหนดวิธีทำธุรกรรมของลูกค้าต่อสถาบันการเงินให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย บริษัทเหล่านี้ยังต้องเดินหน้าให้บริการและตอบสนองความต้องการใหม่ๆ แก่ลูกค้าต่อเนื่องท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำและการสนับสนุนน้อยลงจากภาครัฐ

มาตรการระยะแรกเริ่มเพื่อปรับตัวต่อสถานการณ์ในอุตสาหกรรมนี้ คือ การให้พนักงานทำงานผ่านระบบทางไกล ให้สอดรับความต้องการสินเชื่อที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงศึกษาช่องทางดิจิทัลใหม่ๆ และกู้คืนความเชื่อมั่นกับนักลงทุนที่เกิดความไม่มั่นใจ ช่องทางการให้บริการลูกค้าต่างๆ จะอยู่ภายใต้ความกดดันมากขึ้น เนื่องด้วยธนาคารได้เพิ่มและปรับประสิทธิภาพทั้งช่องทางการให้บริการด้วยตัวเอง และช่องทางให้บริการของพนักงานเพื่อให้สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

ในระยะเริ่มแรกของการแพร่ระบาด ธนาคารให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.การดำเนินงาน เพื่อเข้าถึงบริการพื้นฐานได้อย่างต่อเนื่อง 2.ซัพพลายเชน ตอบสนองความต้องการซัพพลายเออร์และลูกค้ารายใหม่ 3.รายได้ให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานต่อไปได้ และ 4.แรงงาน สนับสนุนให้พนักงานทำงานจากระยะไกลท่ามกลางสถานการณ์หยุดชะงัก

“ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่ดีขึ้น ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ต่างกำลังเร่งผลักดันและริเริ่มการใช้ระบบอัตโนมัติ เช่น แชทบอทสื่อสารกับลูกค้า กระบวนการอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ โซลูชั่นการสร้างบัญชีแบบครบวงจร การออกแบบโครงสร้างองค์กรและขั้นตอนการทำงาน การจัดลำดับความสำคัญการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ"

หลังการเติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 5% ในปี 2562 แต่ผลจากโควิด-19 ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายด้านบริการไอทีลดลง ไม่ว่าจะเป็น ขนาด เงื่อนไข และประเภทของดีลในสัญญาการค้าล้วนได้รับผลกระทบ เนื่องจากโครงการใหญ่ๆ ถูกตัดทอนหรือยกเลิก แต่จะกินเวลาช่วงสั้นๆเนื่องจากธนาคารเริ่มปรับตัว การใช้จ่ายไอทีจะเริ่มกลับมาดีดตัวสูงขึ้น เพราะธนาคารกำลังเร่งผลักดันและปรับปรุงเทคโนโลยีการให้บริการให้ทันสมัยขึ้นในปีหน้า โดยการสร้างมูลค่าให้กับบริการและที่มาของรายได้แหล่งใหม่ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อสร้างความสำเร็จระยะยาวตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจ