'ดีอี' หนุน 'ดีป้า' เข็นพ.ร.บ.เกมฯ คาดมีผลบังคับใช้ปลายปี'68 นี้
รองนายกฯ ประเสริฐ นั่งหัวโต๊ะร่วมรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. ... หวังยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสู่ระดับสากล ต่อยอดโอกาสสู่อาชีพใหม่ สร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
วานนี้ (วันที่ 9 มกราคม 2568), กรุงเทพมหานคร – กระทรวงดีอี และ ดีป้า ร่วมรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. ... โดยเปิดพื้นที่ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเสนอความคิดเห็น ก่อนรวบรวมและตกผลึก เพื่อนำไปสู่กฎหมายที่มีความสมบูรณ์ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมไทยและประเทศต่อไป
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. ... โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เป็นประธานการประชุม ร่วมกับนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า คณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (THACCA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกม ฯลฯ
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเกมขยายตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจะเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศด้านเกม ซึ่งเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมในทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนากำลังคน การส่งเสริมให้เกิดการยกระดับผู้ประกอบการเกมไทยผ่านกลไกต่าง ๆ การกำหนดแนวทางป้องกันผลกระทบทางสังคม และการดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบการระดับโลกเข้ามาในประเทศไทย
ดังนั้นการดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม นักพัฒนาเกม นักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป
"โดยความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับในวันนี้จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานของอุตสาหกรรมเกม เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสู่ระดับสากล ต่อยอดโอกาสสู่อาชีพใหม่ อีกทั้งสร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน"
ด้านนายณัฐพล กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและพัฒนา ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกระจายการจัดจำหน่าย และสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกมในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พัฒนามาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการกำกับ และควบคุมอุตสาหกรรมเกม เพื่อนำไปสู่การกำกับและบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าเกมผ่านกองทุนส่งเสริม
ทั้งนี้ โครงของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การปรับปรุงนิยาม
- การตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
- การขึ้นทะเบียน
- การกำกับ
- กองทุนส่งเสริม
โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการปกป้องสังคม โดยเฉพาะการดูแลเยาวชน การป้องกันผลกระทบทางจิตใจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้อุตสาหกรรมเกมในเชิงบวก ซึ่ง ดีป้า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนจะส่งผลให้ พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมไทย ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ดี จากนี้ ดีป้า จะนำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาเร่งปรับปรุงร่างกฎหมาย โดยคาดว่าจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน และจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2568
ขณะที่ผู้แทนจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม พร้อมเสนอให้มีการเพิ่มประเด็นเรื่องการพัฒนากำลังคนในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเสนอให้มีภาคเอกชน ภาคการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านเกมเพิ่มขึ้นในส่วนของคณะกรรมการ เนื่องจากอุตสาหกรรมเกมพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนจะทำให้คณะกรรมการสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและรับความรู้ในประเด็นต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ชัดเจน และถูกต้อง
สำหรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากทุกภาคส่วนในวันนี้จะถูกนำไปรวมกับผลการประชุมระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 4 ครั้งที่ผ่านมา รวมถึงความคิดเห็นจากระบบกลางกฎหมาย เพื่อนำไปประกอบการปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมยิ่งขึ้นต่อไป