ธปท.เปิดบทวิจัย สามทศวรรษ กับปัญหา ความเหลื่อมล้ำไทย
ธปท.เปิดผลวิจัย ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย พบครึ่งในครึ่งปีแรกของปี 63 แม้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคลดลง แต่ไม่ยั่งยืน และน่ากังวังขึ้น
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เปิดเผยบทวิจัย เกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยทำการวิจัย ผศ. ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู Universidad Carlos III de Madrid ,ผศ. ดร.ศุภนิจ ปิยะพรมดี University College London ,รศ. ดร.พรพจ ปรปักษ์ขาม National Graduate Institute for Policy Studies, Tokyo ,ดร.นฎา วะสี สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
โดยระบุว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ได้รับความสนใจมาโดยตลอด แม้ตัวเลขทางการจากสำนักงานพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) จะแสดงว่า
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคในภาพรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ข้อสรุปนี้ยังเต็มไปด้วยข้อกังขาที่ว่า ความเหลื่อมล้ำลดลงจริงหรือ เรายังเห็นคนรวยทานอาหารร้านแพง ๆ ขับรถหรู
ขณะที่คนจนจำนวนมากต้องหาเช้ากินค่ำ บทความนี้เจาะลึกลงไปในดัชนีความเหลื่อมล้ำดังกล่าว และนำเสนอมุมมองว่าทำไมตัวเลขของทางการถึงได้ดูขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไป ทิศทางของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจะไปทางไหน และการมาเยือนของโควิด-19 กำลังตอกย้ำความเหลื่อมล้ำมากเพียงใด
งานชิ้นนี้วิเคราะห์มุมลึกของความเหลื่อมล้ำผ่านข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ตั้งแต่ปี 2531 – 2562 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ สศช. ใช้จัดทำดัชนีความเหลื่อมล้ำ และประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่าน ข้อมูล SES และข้อมูลการสำรวจภาวะตลาดแรงงาน (LFS)
ในครึ่งปีแรกของปี 2563 เราพบว่า แม้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคในภาพรวมจะลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัจจัยหลายประการที่ช่วยลดตัวเลขความเหลื่อมล้ำนั้นดูจะไม่ยั่งยืนและทำให้น่ากังวล ได้แก่
ประการแรก สำหรับครัวเรือนสูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มที่หัวหน้าครอบครัวอายุ 55 ปีขึ้นไปนั้น มีแนวโน้มที่จะพึ่งพาเงินโอนมากขึ้น หากขาดรายได้จากเงินโอน ระดับความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ของคนกลุ่มนี้ก็จะไม่ลดลง
และด้วยความที่เงินโอนส่วนใหญ่มาจากเงินช่วยเหลือจากญาติพี่น้องนอกครัวเรือนมากกว่าเงินช่วยเหลือจากรัฐการพึ่งพาเงินโอนจึงเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะเงินช่วยเหลือนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ และการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยของไทย
แปลว่าเรากำลังมีครัวเรือนสูงอายุมากขึ้น และครัวเรือนรุ่นหลังมีบุตรหลานน้อยลง ก็ยิ่งทำให้การพึ่งพาลูกหลานทำได้ยากลำบากขึ้น
ประการที่สอง มองลงลึกที่ตัวรายได้จากการทำงานจึงพบว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างครัวเรือนเกษตรกรรมมีระดับสูงขึ้น ซึ่งอาจมิได้สะท้อนในดัชนีตัวรวม นั่นเพราะสัดส่วนของภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงมากในสามทศวรรษที่ผ่านมา และความเหลื่อมล้ำของรายได้นอกภาคเกษตรได้ลดลง
อย่างไรก็ดี การลดลงของความเหลื่อมล้ำนอกภาคเกษตรนั้นเป็นเพราะการลดลงของความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของคนที่มีระดับการศึกษาเดียวกัน โดยเฉพาะคนจบมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า แต่ความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ของคนที่มีระดับการศึกษาต่างกัน ไม่ได้ลดลงมากนัก
ประการที่สาม ความเหลื่อมล้ำด้านการบริโภคในภาพรวม มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ แต่สำหรับครัวเรือนรายได้ต่ำ ค่าใช้จ่ายหลักเป็นค่าใช้จ่ายในสินค้าจำเป็น
เช่น อาหารและที่อยู่อาศัย ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนรายได้ต่ำมีความเปราะบางสูง หากสูญเสียรายได้ ก็ต้องกู้ยืมหรือลดการบริโภคสินค้าที่จำเป็น
ประการที่สี่ โควิด-19 กระทบครัวเรือนไทยแบบกระจุก อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและชั่วโมงการทำงานที่ลดลงพบมากในกลุ่มแรงงานที่อยู่ในกิจการที่ถูกสั่งปิดชั่วคราว ซึ่งมักเป็นแรงงานนอกภาคการเกษตรที่มีรายได้ต่ำ ซ้ำนั้น ครัวเรือนรายได้สูงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิดมากนัก ยังสามารถประหยัดรายจ่ายได้มากขึ้นในช่วงโควิดนี้ เพราะมีเงินเหลือเก็บจากบริการต่าง ๆ ที่ลดไป เช่น ท่องเที่ยว ซึ่งก็หมายความว่า โควิด-19 ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทั้งทางรายได้และทางเงินออม
ความน่ากลัวของภัยโควิดต่อความเหลื่อมล้ำอาจจะมากกว่าภาพที่เห็น ในช่วงครึ่งปีแรกมีลูกจ้างจำนวนมากที่ยังมีงานทำแต่โดนลดชั่วโมงทำงาน และไม่แน่ว่าลูกจ้างกลุ่มนี้ บางส่วนอาจจะถูกเลิกจ้างถาวร การสูญเสียรายได้ในช่วงว่างงานส่งผลให้ครัวเรือนลดค่าใช้จ่าย
ซึ่งอาจรวมถึงการสนับสนุนการศึกษาของบุตรและเงินโอนช่วยเหลือญาติพี่น้อง หากมิได้กลับมาทำงานในระบบ ก็จะสูญเสียสิทธิในการเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ส่งผลต่อความมั่นคงและเงินออมเพื่อวัยเกษียณ
ท้ายนี้ ดัชนีความเหลื่อมล้ำในภาพรวมเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ คงจะพึ่งมาตรการเงินเยียวยาเพียงอย่างเดียวไม่ได้
แต่รัฐจำเป็นต้องเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเท่าเทียม หาวิธีเพิ่มผลิตภาพในตลาดแรงงาน รวมถึงสร้างกลไกหรือกระตุ้นให้คนสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้นหลังเกษียณ