ตลาดสหรัฐ-ยุโรป พุ่งหนุนส่งออกไทยไตรมาสแรก
ส่งออกรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ไปยุโรป สหรัฐ ทำสถิตส่งออกเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดันการส่งออกของไทยไตรมาสแรกขยายตัว 2.27 % พาณิชย์ เตรียมปรับเป้าส่งออกใหม่ คาดอาจโตถึง 7 %
มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมี.ค. ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24,222 ล้านดอลลาร์และสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย.2561 โดยมีอัตราการขยายตัว 8.47 % เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยยังขยายตัว 11.97 สะท้อนการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า23,511 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14.12 % เกินดุลการค้า 710.80 ล้านดอลลาร์
การส่งออกไทยขยายตัว 8.47 % สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 64 ว่าจะขยายตัว 6 %จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.5 % เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐและการเร่งแจกจ่ายวัคซีนทั่งโลก รวมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะปรับตัวดีขึ้น อาทิ สหรัฐฯขยายตัว 6.4% จีน 8.4% ญี่ปุ่น 3.3% และประเทศในทวีปยุโรป 4.4% นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 55.0 สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ตลาดส่งออกหลักของไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหลัก เพิ่มขึ้น 12.3 % โดยตลาดสหรัฐ มีการขยายตัว ขยายตัว 7.2 % เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ รถยนต์และส่วนประกอบ รวม 3 เดือนขยายตัว 6.2 % ตลาดสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวเพิ่มถึง 32 % จากเดือนก.พ.ที่ขยายตัวเพียง 0.2 % ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเหล่านี้สูง ส่งผลให้ 3 เดือนแรกตลาดยุโรปขยายตัว 8.5 %
นอกจากนี้ตลาดจีนขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยขยายตัว 35.4% ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 4.6 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เช่นเดียวกับตลาดออสเตรเลีย ขยายตัว 16.9 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเอเชียใต้ 24.3 % นอกจากนี้ หลายตลาดส่งสัญญาณฟื้นตัว ทั้งตลาด CLMV ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ที่กลับมาขยายตัว รวมถึงตะวันออกกลาง (15) และอาเซียน (5) ที่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนมาก
ทั้งนี้สินค้าที่เป็นตัวจักรสำคัญและขับเคลื่อนการส่งออกในเดือนมี.ค. คือ สินค้าอุตสาหกรรม ที่ขยายตัว 8.5 % ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวในรอบ 2 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมที่ทำสถิตส่งออกมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบด้วยคือ 1.รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่า3.04 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 43.1% โดยเฉพาะ บ.ฟอร์ด ส่งออกรถกระบะและรถยนต์นั่งเอนกประสงค์จำนวนกว่า 2,910 คันไปยังออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสถิติการส่งออกที่มีจำนวนสูงที่สุด 2. ผลิตภัณฑ์ยาง มีมูลค่า 1.50 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 50.6 % เป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะถุงมือยางขยายตัว 271 % 3.เม็ดพลาสติก มีมูลค่า 1,013.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 52.9 % เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยเฉพาะตลาดจีน
รวมทั้ง สินค้าเกษตรและอาหารที่ยังเติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้บางประเทศกลับมาใช้มาตรการล็อคดาวน์ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า การขนส่ง การผลิตยังคงดำเนินต่อไปได้ โดยดูจากาการนำเข้าของไทยในเดือนมี.ค. ที่ขยายตัว 14.12 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2ทั้งสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่า ภาคการผลิตยังคงดำเนินการผลิตได้ ประกอบกับขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยเฉพาะสหรัฐ และจีน ส่งผลให้มีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามคงต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนแนวโน้มส่งออกของไทยระยะต่อไป ทาง สนค.ประเมินว่า น่าจะยังเป็นบวก จากปัจจัย การฟื้นตัวภาคการผลิตของโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพของการกระจายวัคซีน ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มส่งผลในทางบวกต่อความเชื่อมั่นด้านการบริโภคของประชาชน และ ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว คาดว่าจะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
ภาพรวมการส่งออกของไทยไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 2.27 % และการนำเข้าไตรมาสแรกขยายตัว 9.37% ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกของในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องประเมินแล้วว่า การส่งออกของไทยน่าจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ 4 % ทำให้ต้องมีการทบทวนตัวเลขเป้าหมายการส่งออกใหม่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะมีการรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินตัวเลขใหม่ โดยหากว่า ส่งออกโต 4 % ต้องส่งออกเฉลี่ย 19,620 ล้านดอลลาร์ หากโต 6% ต้องส่งออกเฉลี่ย 20,134 ล้านดอลลาร์ และหากโต 7 % ต้องส่งออกเฉลี่ย 20,391 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตัวเลขทั้งหมดนี้ยังมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวต่อเนื่อง การกระจายฉีดวัคซีนได้ทั่วโลก และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 รอบ 3 ได้ โอกาสที่การส่งออกของไทยจะเป็น”พระเอก”ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ก็ไม่ไกลเกินไป