เปิดไทม์ไลน์ 'ม.33 เรารักกัน' รอบใหม่ รับเงินเยียวยาเพิ่ม 2,000 บาท วันไหนบ้าง?
เปิดไทม์ไลน์ "ม.33 เรารักกัน" รอบใหม่ รับเงินเยียวยาเพิ่ม 2,000 บาท วันไหนบ้าง?
จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 ที่อนุมัติมาตรการช่วยเหลือประชาชนในการเพิ่มกำลังซื้อช่วงโควิด-19 ระลอกที่ 3 เป็นการเร่งด่วน ครอบคลุมประชาชนประมาณ 40 กว่าล้านคน ไม่เพียงมาตรการเราชนะที่เพิ่มวงเงินเยียวยา 2,000 บาทต่อคน อีกหนึ่งมาตรการที่รัฐขยายเพิ่มเติม คือ "ม.33 เรารักกัน" เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคม
โดยโครงการ ม.33 เรารักกัน ครม.ได้เพิ่มวงเงินในโครงการอีก 1.17 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มที่ได้รับสิทธิทั้งหมด 8.11 ล้านคน โดยเป็นการเพิ่มวงเงินเยียวยาให้ผู้ที่เคยได้สิทธิทั้งหมด 2,000 บาท ซึ่งจะเป็นการแบ่งจ่ายรายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท เข้าแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 'เราชนะ' เช็คสิทธิ ตรวจสอบสถานะ รับ 'เงินเยียวยา' รอบใหม่ 1,000 เงินเข้าแล้ว!
- 'เราชนะ' เช็คสิทธิ รอบใหม่ เงินไม่เข้า 'เป๋าตัง' มีปัญหา ควรทำอย่างไร?
- 'เราชนะ' เช็คสิทธิ! คลังประกาศผลทบทวนสิทธิ์ 21 พ.ค.นี้ รอรับ 'เงินเยียวยา' 9 พันบาท
- 'เราชนะ' เช็คสิทธิ ได้ 'เงินเยียวยา' ไม่พร้อมกัน รีบเช็ค! กลุ่มไหนได้เงินก่อน
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดไทม์ไลน์การโอนเงินเยียวยา ม.33 เรารักกัน ดังนี้
- สัปดาห์แรก วันจันทร์ที่ 24 พ.ค.2564 จำนวน 1,000 บาท
- สัปดาห์ที่สอง วันจันทร์ที่ 31 พ.ค.2564 จำนวน 1,000 บาท
โดยเงินเยียวยาที่ได้รับนั้น ไม่สามารถกดออกมาเป็นเงินสดได้ ต้องใช้จ่ายซื้อสินค้าและจ่ายค่าบริการกับร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการเท่านั้น ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 โดยร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ ได้แก่
- ร้านถุงเงินธงฟ้าประชารัฐ
- ร้านค้าคนละครึ่ง
- ร้านค้าเราชนะ
- ขนส่งสาธารณะที่เข้าร่วมมาตรการ
ซึ่งร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ สามารถแยกเป็นประเภทต่างๆ ที่สามารถใช้จ่ายเงิน "ม33 เรารักกัน" ได้ มีทั้งหมด 9 ประเภท ดังนี้
1. ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม
2. สินค้าในร้านค้าธงฟ้า
3. สินค้าในกิจการ OTOP
4. สินค้าทั่วไป เช่น ร้านขายของฝาก ร้านซ่อมทุกประเภท เช่ารถยนต์/มอเตอร์ไซค์ ร้านขายอุปกรณ์เพื่อการกีฬา ร้านขายสินค้าเกษตร ร้านบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง/ขายอาหารสัตว์ ร้านบริการจัดสวน ร้านขายเสื้อผ้า มินิมาร์ท ตลาดสด
5. โรงแรม/ที่พัก เช่น โฮมสเตย์ หอพัก แมนชั่น อพาร์ทเมนท์ แฟลต
6. สุขภาพ/ความงาม เช่น ร้านขายเครื่องสำอางและบำรุงผิว ร้านขายยาและอาหารเสริม ร้านเสริมสวย ร้านทำเล็บ ร้านสปา ร้านนวด
7. ขนส่งสาธารณะ ได้แก่ แท็กซี่ รถตู้ จักรยานยนต์ สามล้อถีบ รถสองแถว รถไฟฟ้า รถไฟ เรือ รถ บขส.
8. รับเหมา/งานช่าง/ทำความสะอาด
9. สุขภาพ/การแพทย์ เช่น สถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน กลุ่มบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ คลินิก
ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล, กระทรวงการคลัง