'ธรรมนัส' หนุนปลูกสมุนไพร ดึงที่สปก.อีอีซี ผลิตป้อนตลาดโลก
การระบาดของโควิด- 19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ "ธรรมนัส" เล็งจัดสรรพื้นที่ส.ป.ก.ในเขต EEC ประมาณ 1 หมื่นไร่ ทำแปลงใหญ่สมุนไพร พัฒนาพืชเศรษฐกิจที่ตลาดโลกมีความต้องการสูง อาทิ กัญชง กัญชา ขมิ้นชัน กระชายขาว ฟ้าทะลายโจร
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้หารือกับคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) หรือ อีอีซี ถึงแนวทางส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ตะวันออก โดยจะทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)ระหว่าง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และอีอีซี ในเร็วๆ นี้ เพื่อร่วมกันยกระดับระดับรายได้เกษตรกร พัฒนาเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ในเขตพื้นที่ส.ป.ก.โดยในเขตพื้นที่อีอีซี มีประมาณ 1 หมื่นไร่ จะส่งเสริมการทำแปลงใหญ่สมุนไพร เป็นการพัฒนาพืชเศรษฐกิจที่ตลาดโลกมีความต้องการสูง อาทิ กัญชง กัญชา ขมิ้นชัน กระชายขาว ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
“ต้องไปดูพื้นที่อีอีซี สำรวจพื้นที่เหมาะสมที่จะทำแปลงทดลอง เบื้องต้นอาจนำมาจากเงินกองทุนพัฒนาส.ป.ก.เพื่อให้เกษตรกรกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่วนการพัฒนาพันธุ์ให้ตรงกับความต้องการจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนการหาตลาดเป็นเรื่องที่อีอีซีกับเอกชนจะรับไปดำเนินการ ทั้งนี้ ในแต่ละปีไทยนำเข้าสมุนไพรมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่พบว่าสมุนไพรไทย มีคุณภาพด้อยกว่าคู่แข่ง และต้นทุนสู้คู่แข่งไม่ได้ และมีสารสำคัญบางอย่างไม่ตรงความต้องการของตลาดโลก ทำให้ไทยต้องทำเข้าสมุนไพรจากอินเดียเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการร่วมมือกันครั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ไปจนถึงแปรรูป และหาตลาด นอกจากนี้ จะเร่งดำเนินการเปิด ศูนย์ส่งเสริมและขยายพันธ์พืช เพื่อเป็นแปลงสาธิต และพัฒนาพันธุสมุนไพร พืชเศรษฐกิจ ที่ตลาดโลกต้องการ โดยจะเริ่มเปิดศูนย์ฯแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก) กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกันบูรณาการเดินหน้าผลักดันส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศ หันมาปลูกพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเป็นผลมาจากที่ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพและเลือกบริโภคอาหารปลอดภัยซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลปี 2562 มีมูลค่าการบริโภควัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ ที่มีมูลค่าสูงถึง 52,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 43,100 ล้านบาท โดยมีการนำเข้าสมุนไพรจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2560-62 วงเงิน 11,200 ล้านบาท 11,500 ล้านบาท และ 12,400 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนการส่งออกสมุนไพรเฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อปี
"การขับเคลื่อนนโยบายนี้ จะอยู่ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ปี 2560 - 2565 ของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเห็นว่าพืชสมุนไพรมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก เนื่องจากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อีกทั้งยังต้องการยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในและต่างประเทศ “
การส่งเสริมให้ปลูกในรูปของภาคอุตสาหกรรมจะทำให้สามารถคุมคุณภาพ ปริมาณการผลิต เพื่อป้อนวัตถุดิบตั้งต้นให้กับอุตสาหกรรมสมุนไพรได้ เกษตรกรจะมีรายได้และความมั่นคงในการดำรงชีพ ในเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษา และสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรที่สนใจ อย่างมีแบบแผน ซึ่งสมุนไพรจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยได้
สำหรับผลการดำเนินงานเกี่ยวกับพืชสมุนไพรของกระทรวงเกษตรฯ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่ได้มาตรฐานจำนวน 64,917 ไร่ จำนวน 80 ชนิด แบ่งเป็นพื้นที่ที่มาตรฐาน GAP จำนวน 54,755 ไร่ พื้นที่ที่มาตรฐาน Organic Thailand จำนวน 13,162 ไร่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ได้รับการส่งเสริมการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว จำนวน 60 กลุ่ม มีการจัดทำมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพร
ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรยังได้จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพร เพื่อให้มีฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่ชัดเจนสามารถส่งเสริมเกษตรกรได้ ส่วนกรมพัฒนาที่ดินก็ได้จัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) จำนวน 24 ชนิด ดังนี้
ขมิ้นชัน ไพล บัวบก กระชายดำฟ้าทะลายโจร กระชายเหลือง กระวาน ข่า ขิง คำฝอย ตะไคร้ บุก พริกไทย ว่านชักมดลูก กระเจี๊ยบแดง เก๊กฮวย ดีปลี บอระเพ็ด พญายอ เพชรสังฆาต มะระขี้นก มะลิ มะแว้งเครือ และมะแว้งต้น ตลอดจนมีแผนพัฒนาบุคคลากรเพื่อตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรและปรับปรุงห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานเพื่อให้บริการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ
ส่วนแผนรองรับด้านการตลาด ที่ผ่านมาได้มีการจัดทำตลาดกลางโดยทำ MOU ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท ไทยแอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) เป็นโครงการตลาดไท select พืชสมุนไพรสดและเครื่องเทศสดปลอดภัย มีกำหนดการเปิดตลาดในปลายปี 2564 นี้ นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ( มกอช.) ยังได้จัดทำตลาดอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ชื่อ DGT Farm กลุ่มสินค้าพืชสมุนไพรมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อีกด้วย