WHAUP ลุ้นคว้าดีล โรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์-ลม เวียดนามในปีนี้
WHAUP เดินหน้าเจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพิ่ม หวังปิดดีลโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลมในเวียดนาม หนุนกำลังผลิตเข้าเป้า 1,000 เมกะวัตต์ในปีนี้ ดันธุรกิจไฟฟ้าโต 14%
นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า ในปีนี้ บริษัทยังเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือให้เติบโตตามเป้าหมายมีกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบัน มีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการ(M&A) ในหลายโครงการ กำลังการผลิตรวม 250 เมกะวัตต์ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) ในเวียดนาม รวมถึงยังสนใจโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 90 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 3 โครงการ กำลังการผลิตโครงการละ 30 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า(COD) แล้ว
“บริษัท คาดหวังว่า ทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลมในเวียดนาม จะสามารถปิดดีลได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเกินเป้าที่ตั้งไว้ 1,000 เมกะวัตต์ในปีนี้”
สำหรับการเข้าซื้อกิจการโครงการโรงไฟฟ้านั้น ก็เพื่อมาชดเชยรายได้ของโครงการโรงไฟฟ้า Gheco-One ที่ลดลง จากการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผน ทำให้รายได้ค่าความพร้อมจ่าย (Availability 10 Payment : AP) ลดลง ซึ่งในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะกลับมาดำเนินงานตามปกติ ทำให้คาดหมายว่าส่วนแบ่งกำไรจะกลับมาฟื้นตัว ดังนั้น การเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติม จะทำให้บริษัทสามารถรับรู้เป็นรายได้เข้ามาทันทีหลังจากที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และยังเป็นปัจจัยหนุนต่อผลประกอบการปีนี้ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) แล้วกว่า 594 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าหมายในปีนี้ ธุรกิจไฟฟ้า จะเติบโต 14% จากปีก่อน ขณะที่บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯไว้ที่ระดับ 300 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 จากปัจจุบันลงนามสัญญาไปแล้ว 61 เมกะวัตต์ ขณะที่กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 แห่ง และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) ยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ บริษัทตั้งงบลงทุน ไว้ที่ 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมกับแผนการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ดังนั้น บริษัท อาจจะดำเนินการกู้เงิน และยืนยันว่า บริษัทมีศักยภาพในการกู้เงินที่ระดับ 1-1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับ 0.88 เท่า ดังนั้นยังมีศักยภาพ
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตรการ lockdown จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ บริษัท ยังไม่ได้รับผลกระทบและปริมาณการใช้น้ำของลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ยังคงดำเนินการได้ตามปกติ อีกทั้งยังมีความต้องการใช้น้ำจากลูกค้ารายใหม่ที่เริ่มทยอยเปิดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2563 เป็นต้นมา ส่วนธุรกิจน้ำในเวียดนามคาดว่ายอดขายจะเติบโตเช่นกัน
สำหรับทิศทางผลการดำเนินงานทั้งปีนี้ บริษัทยังคงตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติจำนวน 2,599 ล้านบาท กำไรสุทธิ 813 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 764 ล้านบาท เนื่องจากภาพรวมธุรกิจปีนี้เติบโตขึ้น ทั้ง ธุรกิจน้ำที่ในปีนี้คาดว่า จะมียอดขาย แตะระดับ 153 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเติบโต 34% จากปีก่อน เนื่องจากรายได้หลักยังมาจากการขายน้ำในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท ทั้งน้ำดิบ น้ำกรอง และบำบัดน้ำเสีย จากโรงงานเดิมที่ขยายกำลังการผลิต และโรงงานใหม่ๆ ที่ทยอยก่อสร้างเพิ่มขึ้น