'บัวหลวง' คัด 4 กลุ่มหุ้นน่าซื้อลงทุนช่วงตลาดปรับฐาน

'บัวหลวง' คัด 4 กลุ่มหุ้นน่าซื้อลงทุนช่วงตลาดปรับฐาน

“บล.บัวหลวง” ชี้ช่องลงทุน 4 กลุ่มหุ้น “ส่งออก-เดินเรือ-เครื่องดื่ม-บรรจุภัณฑ์” เหตุธุรกิจ-แนวโน้มกำไรแกร่งฝ่าโควิด แนะจัดพอร์ตถือหุ้นไทยมากกว่า 50% หลังตลาดปรับฐานลงมาถูก เชื่อปลายปีฟื้นตัว

นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย  บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มีปัจจัยแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศที่ต้องติดตาม โดยต่างประเทศจับจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เกี่ยวกับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ย และการปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ซึ่งในอดีตส่งผลกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง

อย่างไรก็ดี ภายหลังการปรับฐานจาก QE Tapering ในครั้งก่อน พบว่าตลาดหุ้นไทยสามารถประคับประคองตัวได้ และกลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีอีกครั้ง ส่วนครั้งนี้คาดว่าเฟดจะเริ่มส่งสัญญาณในเดือน ก.ค.นี้ หรือเดือน ส.ค.ที่จะถึง โดยคาดว่าจะส่งผลกดดันตลาดหุ้นไทยให้ปรับฐานลง แต่คาดว่าจะลงไม่ลึกมากนัก เพราะราคาหุ้นตอบสนองต่อปัจจัยลบไปแล้วล่วงหน้า

ส่วนปัจจัยในประเทศยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภายหลังประเทศไทยยังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี คาดว่าการระบาดจะทำจุดสูงสุด (จุดพีค) ในช่วงปลายไตรมาส 3 ปี 2564 ดังนั้น การลงทุนจึงต้องมองข้ามช็อตไปหลังโควิด-19 คลี่คลายลงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในช่วงที่การระบาดยังรุนแรง แนะนำกลุ่มหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศต่ำ ส่วนกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ (Reopening) พบว่าราคาหุ้นปรับฐานลงไม่หนักอย่างการระบาดในรอบก่อนหน้า สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานกาณ์ได้ดีขึ้น แต่แนะนำให้สถานการณ์ระบาดเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นก่อน และมีแนวโน้มกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้ก่อนจึงค่อยเข้าลงทุน

162728828680

สำหรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทนปี 2564 ประเมินกรณีฐาน (Base Case) ที่ 1,605 จุด อย่างไรก็ดี ระหว่างทางมีโอกาสปรับขึ้นไปทดสอบ 1,694 จุด ในทางกลับกันมีโอกาสปรับลงไปทดสอบที่แนวรับบริเวณ 1,500 จุด แต่มองเป็นจุดน่ากลับเข้ามาซื้อลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาปรับลงมาแรง เช่น กลุ่มพลังงาน แลักลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยยกตัวอย่างหุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ในอดีตเคยซื้อขายบริเวณ 150 บาทต่อหุ้น ปัจจุบันปรับตัวลงมาที่บริเวณ 100 บาทต่อหุ้น เป็นต้น

ในการนี้ ภายหลังเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 บล.บัวหลวง จึงได้ประเมินภาพของตลาดหุ้นไทยในปี 2565 โดยคาดว่าคาดการณ์กำไรของหุ้นในตลาดจะปรับขึ้นสูงกว่าปี 2564 อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) ปีหน้าจะอยู่ที่ 98.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะส่งผลให้คาดการณ์เป้าหมายดัชนีปรับขึ้นไปอยู่ที่ 1,780 จุด ส่วนหนึ่งได้ปัจจัยหนุนจากกลุ่มหุ้นพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักสูงในตลาดหุ้นไทย โดยคาดว่ากำไรจะเติบโตต่อเนื่อง จากคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2565 ระหว่าง 65-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ขณะที่การลงทุน แม้ตลาดหุ้นจะปรับฐานลงจากการระบาด แต่มองไปข้างหน้า พบว่าหุ้นกลายตัวแนวโน้มกำไรปี 2565 มีทิศทางเติบโตดี และบางตัวเติบโตดีกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด-19 ดังนั้น ในช่วงที่ตลาดปรับฐานจึงเป็นช่วงที่นักลงทุนสามารถเลือกซื้อ หรือเลือกช้อปหุ้นที่ราคาปรับฐานลงมาได้

โดยหุ้นเด่นแนะนำในไตรมาส 3/64 ได้แก่ กลุ่มส่งออก KCE DELTA และ HANA รวมถึงกลุ่มยานยนต์ ตามทิศทางการส่งออกที่เติบโตดีตามเศรษฐกิจต่างประเทศที่กลับมาฟื้นตัว กลุ่มเดินเรือ RCL และ LEO ได้อานิสงส์จากค่าระวางเรือที่ปรับตัวขึ้น โดยคาดว่าแนวโน้มกำไรจะปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ซึ่งเหมาะกับการหลบภัยในช่วงที่เศรษฐกิจถูกผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ถัดมา กลุ่มเครื่องดื่ม โดยมีจุดเด่นจากแนวโน้มกำไรปี 2565 ที่เติบโตสูง ขณะที่ราคาต่อกำไร (P/E) ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก และราคาหุ้นยังเคลื่อนไหวอยู่ในโซนล่าง เช่น OSP และสุดท้ายกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ทั้งผู้จัดส่งบรรจุภัณฑ์ KEX และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ SCGP

สำหรับหุ้นบูลชิพ เช่น กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคาร คาดจะกลับมาอีกครั้งในปลายปี 2564 จากความต้องการใช้พลังงานที่ฟื้นตัวกลับมาในช่วงปลายปี และภาวะเงินเฟ้อที่จะกลับมาสูงขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยกลุ่มพลังงาน คาดหวังการเติบโตจากภายนอก (In-organic Growth) จากการออกไปซื้อกิจการต่างประเทศ เช่น PTTGC ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง เชื่อว่าจะสร้างผลกำไรให้ระยะกลาง-ยาว โดยการลงทุนระยะสั้นแนะนำเก็งกำไรตามงบการเงิน ส่วนระยะยาวแนะนำทยอยสะสม เพราะราคาที่ปรับฐานลงมาเป็นราคาที่มีส่วนลดค่อนข้างน่าสนใจ

เมื่อสอบถามถึงราคาหุ้นธนาคารที่ปรับลง นายวิกิจ กล่าวว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงสะท้อนมาตรการต่างๆ ที่ธนาคารจำเป็นต้องช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น มาตรการยืดหนี้ และมาตรการพักชำระหนี้ แต่มองว่าปัจจัยลบดังกล่าวว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจสะดุดในช่วงสั้นเท่านั้น แต่ไม่ส่งผลถาวร โดยเชื่อว่าหลังจากผ่านช่วงวิกฤตแล้ว มาตการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบจะไม่เพิ่มขึ้นเหมือนช่วงเวลานี้แล้ว ส่วนปริมาณการตั้งสำรองของธนาคาร ณ ปัจจุบันถือว่าเพียงพอ แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นคือการกลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล

“ถ้าจ่ายจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าฐานะทางการเงินของแบงก์มีความแข็งแกร่ง สามารถจ่ายปันผลได้ สภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้ประเมินแล้วรับได้กับการตั้งสำรองและมีเพียงพอ การจ่ายปันผลจะทำให้หุ้นขึ้น เพราะทำให้ทุกคนเริ่มมั่นใจว่าสถานการณ์เศรษฐกิจตรงนี้แบงก์คอนโทรลและแบงก์เอาอยู่ ส่วนกลยุทธ์การลงทุนยังแนะนำซื้อลงทุนได้ เพราะราคาหุ้นปรับลงต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV) หลายตัว อีกทั้งปรับฐานลงมาไม่ต่ำกว่า 20% โดยคาดหวังการฟื้นตัวในเดือน ส.ค.และเดือน ก.ย.”

สำหรับการลงทุน มองว่าในช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ดีในการซื้อตราสารทุน (หุ้น) เพื่อรับการเติบโตใน 2-3 ไตรมาสข้างหน้า ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัว และจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามขึ้นมา โดยการจัดพอร์ตลงทุนแนะนำถือหุ้นไทยมากกว่า 50% เพราะมูลค่าปัจจัยค่อนข้างถูก และส่วนที่เหลือแนะนำจัดสรรเงินลงทุนในต่างประเทศ เช่น การซื้อกองทุนรวมดัชนี (ETF) และกองทุนรวม