EPG โชว์กำไรไตรมาส 2 ปีบัญชี 64/65 ที่ 413 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34%
‘อีสเทิร์นโพลีเมอร์’ โชว์กำไรสุทธิไตรมาส 2 ปีบัญชี 64/65 (ก.ค.-ก.ย.64) 413 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% พร้อมจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.14 บาท 8 ธ.ค.นี้
รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า หลายประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ สายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้ภาครัฐกลับมาใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น
อีกทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain Disruption) การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือปรับขึ้นยังคงยืดเยื้อ รวมถึงปัจจัยกดดันจากการปรับขึ้นราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นนั้น นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 64/65 (ก.ค.-ก.ย.64) บริษัทมีรายได้จากการขาย 2,980.2 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 2,329.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.9% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 30.7% และมีกำไรสุทธิรายไตรมาสที่ 412.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 307.7 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 34.1% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มีรายได้จากการขาย 720.1 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 13.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายในประเทศยังเติบโตช้าเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง และจากภาคเอกชนที่ยังชะลอการลงทุนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อีกทั้งเกิดความล่าช้าจากกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ขณะที่ยอดขายตลาดในสหรัฐอเมริกา และยุโรปปรับตัวดีขึ้นเทียบกับปีก่อน กลุ่มธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์หลังการเร่งฉีดวัคซีน
ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas และ TJM มีรายได้จากการขาย 1,565.3 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 44.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อของกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเติบโตตามอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ต้องการใช้ยานยนต์ส่วนตัวแทนระบบขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะซึ่งใช้งานอเนกประสงค์ อย่างไรก็ตามยอดขายของธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ยังคงได้รับผลกระทบจากความล่าช้าจากกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
สำหรับธุรกิจในออสเตรเลียยอดขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากคนออสเตรเลียนิยมท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น แม้ว่าธุรกิจในออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองในบางพื้นที่ เพื่อลดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และความล่าช้าจากการส่งมอบรถยนต์ใหม่เนื่องจากชิปขาดแคลน (Semiconductor Shortage)
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มีรายได้จากการขาย 694.8 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 14.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของ Covid-19 ส่งผลต่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศลดลงกดดันบรรจุภัณฑ์ประเภทถ้วยน้ำ แต่อย่างไรก็ตามบริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค จำกัด ได้เร่งทำการขยายตลาดในหมวดบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคในยุควิถีใหม่ (New Normal) ที่นิยมสั่งอาหารแบบ จัดส่งถึงที่ (Delivery) หรือซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น
บริษัทมีต้นทุนขายสินค้า เพิ่มขึ้น 27.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่ายอดขาย จากการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ สำหรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้มาจาก การจัดทำมาตรการ Bubble and Seal และ การจัดหาวัคซีนทางเลือกป้องกัน COVID-19 (วัคซีนซิโนฟาร์ม) ให้แก่พนักงาน รวมถึงการปรับขึ้นราคาของต้นทุนวัตถุดิบบางประเภท และมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 16.8% มาจากการจัดหาวัคซีนทางเลือกป้องกัน COVID-19 ให้แก่พนักงาน และการช่วยเหลือสังคมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอย่างต่อเนื่อง
บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 45.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไร 39.0 ล้านบาท เป็นผลมาจากค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลเหรียญสหรัฐ และสกุลอื่น
นอกจากนี้ บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 61.8 ล้านบาท จากการฟื้นตัวตามกลุ่มอุตสาหกรรมฉนวนกันความร้อน/เย็น และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
รศ.ดร.เฉลียว กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 64 มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผล ระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานสิ้นสุด 30 ก.ย. 64 ในอัตราหุ้นละ 0.14 บาท (สิบสี่สตางค์) รวมเป็นจำนวนเงิน ทั้งสิ้น 392.0 ล้านบาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 26 พ.ย.64 และ กำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 ธ.ค.64