เปิดสถิติแบงก์ ‘ซื้อกิจการ-ขยายธุรกิจ’ ฝ่าวิกฤตโควิด-19
เปิดสถิติการขยายธุรกิจแบงก์ ในช่วงโควิด-19 พบธุรกิจแบงก์ยังเดินหน้า ขยายธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งซื้อกิจการ ควบรวม ขยายธุรกิจ การลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งทีทีบี แบงก์กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และล่าสุดยูโอบี เพื่อต่อยอดการเติบโต พร้อมรบบนโลกใหม่หลังโควิด-19
ท่ามกลางวิกฤตจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบให้กับ ภาคธุรกิจถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง สายป่านยาว ก็ไม่พ้น ที่จะถูกกระทบจากวิกฤตรอบนี้
แต่ท่ามกลางวิกฤต ก็อาจเป็น “โอกาส”สำหรับบางธุรกิจ ในการขยับขยาย ต่อยอดธุรกิจต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในระยะข้างหน้า
เช่นเดียวกับ ภาคธุรกิจ “ธนาคาร” แม้ช่วง 2ปีที่ผ่านมา จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังเดินหน้าในการขยายธุรกิจอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อรองรับการเติบโตหลังโควิด-19 ทั้งการควบรวมกิจการ การซื้อกิจการ การซื้อธุรกิจ หรือแตกหน่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
เริ่มที่ “ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต” หรือ ttb ที่ประกาศดีลใหญ่ ในต้นปี 2562 ในการรวมกิจการระหว่าง “ธนาคารทหารไทย และ ธนาคารธนชาต” แม้จะเกิดโควิด-19 ระบาดอย่างหนักและส่งผลกระทบต่อธุรกิจแบงก์ แต่ในทางกลับกัน ดีลนี้ก็ยังมีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ในช่วง2ปีที่ผ่านมา แบบไม่มีสะดุด และยังเป็นไปตามแผนที่ทั้งสองธนาคารวางไว้
โดยเมื่อ 5 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นปฐมฤกษ์อย่างเป็นทางการ ที่ธนาคารประกาศปิดดีลการรวมกิจการอย่างเป็นทางการ และเดินหน้าธุรกิจใหม่ ภายใต้แบงก์ใหม่ “ธนาคารทหารไทยธนชาต” หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) ที่สะท้อนการดำเนินการรวมกิจการของทีเอ็มบีและธนชาตได้สิ้นสุดและสมบูรณ์ที่สุด ขึ้นแท่นเป็นแบงก์อันดับ 6 ของไทย หรือแบงก์ขนาดกลาง สู่สินทรัพย์แตะ 2 ล้านล้านบาท
ถัดมา คือการประกาศดีลยักษ์ของวงการ การเงินครั้งใหญ่ จาก “ธนาคารกรุงเทพ” หรือ BBL ที่ประกาศ ซื้อกิจการ ในประเทศอินโดนีเซีย เกือบ 8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นซื้อกิจการธนาคาร พีที เพอร์มาตา ทีบีเค ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของอินโดนีเซีย เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา
แม้ เกิดการระบาดโควิด-19 แต่การซื้อกิจการ ซื้อหุ้นจาก เพอร์มาตา ยังคงดำเนินการได้อย่างราบรื่น ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ ก่อนจะปิดดีลอย่างเป็นทางการ เมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา หลัง ธนาคารกรุงเทพ ได้รับความเห็นชอบจากธานคารกลางอินโดฯ ในการรวมสาขาธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีสาขาย่อยราว 300 สาขาจาก 3 แห่งในอินโดนีเซีย รวมกับ ธนาคารพีที เพอร์มาตา
ส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพ ขึ้นแท่น เป็นแบงก์ไทย ที่มีเครือข่ายในต่างประเทศมากที่สุดครอบคลุมเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนของสินเชื่อจากกิจการธนาคารต่างประเทศต่อสินเชื่อรวมของธนาคารกรุงเทพเพิ่มเป็น 25% จาก 17% ถือเป็นอีกก้าวที่ช่วยเสริมสร้างรากฐานของธนาคารให้มั่นคง แข็งแกร่ง เพิ่มโอกาสใหม่ๆให้กับแบงก์เพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคต
ตามมาด้วย “เซอร์ไพรส์” วงการเงิน ครั้งใหญ่ จาก ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB ) ที่มาพร้อมกับโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยการประกาศ สลัดคราบการเป็นธนาคารแบบดั่งเดิม และปลดล็อกธนาคารจากกรอบเดิม เพื่อก้าวไปสู่ “ยานแม่ลำใหม่” ภายใต้ “SCBX” เพื่อให้แบงก์เกิดความคล่องตัว สอดรับกับโลกใหม่ หลังโควิด-19 ที่เป็นโลกของ ฟินเทค เทคโนโลยี ดิจิทัล ที่จะแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น
การก้าวออกจากกรอบเดิม ครั้งนี้ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร SCB กล่าวว่า นอกจากจะทำให้การทำธุรกิจเกิดความคล่องตัวแล้ว ยังเป็นการสร้าง New Growth ใหม่ๆให้กับธุรกิจอีกตัว จากการเข้าไปรุกในธุรกิจการเงิน และแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีเป้าหมายสูงสุดไปสู่ “บริษัทเทคโนโลยีการเงิน” ระดับภูมิภาคภายในปี 2568 ที่มีฐานลูกค้าขนามใหญ่สู่ 200ล้านคนในอนาคต
แม้ดีลนี้ยังไม่จบ แต่ขบวนการต่างๆได้ถูกกำหนด และเซ็ทไทม์ไลน์ไว้อย่างชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนให้ “ยานแม่” SCBx เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้
โดยเบื้องต้นคาดว่า ภายใต้ มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ผู้ถือหุ้นทำคำตอบรับการเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) จากบริษัท SCBx (1 หุ้น SCB ต่อ 1 หุ้น SCBx ) โดยผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย 90% มีนาคม 2565 หุ้น “SCBx” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) และเพิกถอนหุ้น “SCB” ในวันเดียวกันและ มิถุนายน 2565 SCB จ่ายเงินปันผลให้ “SCBx” จำนวน 70,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการ ทั้งซื้อกจิการ ลงทุใหม่ และจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ภายใต้ SCBx
ซึ่งภายใต้ SCBx เบื้องต้น จะประกอบไปด้วยกว่า 15 บริษัท ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญ ที่จะหนุนกลุ่ม SCBx ให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
จากการรุกในส่วนของธุรกิจที่สร้าง New Growth ใหม่ให้กับธุรกิจ จะเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)ใน 5 ปีข้างหน้า มากกว่า 20% จากเดิมที่ ROE ของธนาคารไทยพาณิชย์อยู่เพียงระดับ 8.8% เท่านั้น
ถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการธนาคาร เพราะหากแบงก์ยังย้ำอยู่กับที่ ก็เท่ากับว่า ยิ่งเจอการแข่งขันที่ร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆแถม ยังสูญเสียโอกาสในการสร้างการเติบโต และรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากฟินเทค หรือแพลตฟอร์มต่างๆที่เข้ามาแข่งขันบนต้นทุนที่ต่ำลงเรื่อยๆ
อีกแบงก์ที่โดดเด่นตั้งแต่ต้นปี 2564 ท่ามกลางโควิด-19 ที่ร้อนแรง แต่ในด้านธุรกิจแบงก์ ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ “กสิกรไทย” KBANK ที่เดินหน้าต่อยอดการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการออกไปโตในภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “THE METAMORPHOSIS” กลายร่างธนาคารให้เติบโตมากกว่าเดิมแบบ “ไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ และไร้ขอบเขต”
โดยครั้งนี้ กสิกรไทย ชูกลยุทธ์การเติบโต ผ่าน “ดิจิทัลแบงกิ้ง” เพื่อหวัง เข้างถึงฐานลูกค้า สู่ 100 ล้านคนในภูมิภาคในอนาคต
เหล่านี้ ตอกย้ำความแข็งแกร่งของ “กสิกรไทย” แม้อยู่ภายใต้วิกฤตโควิด-19 แต่ธนาคารยังสามารถสร้างการเตบโตได้ต่อเนื่องในระดับภูมิภาคได้อย่างก้าวกระโดด เพื่อผลักดันธนาคารขึ้นแท่น “ธนาคารดิจิทัลระดับภูมิภาค” (Regional Digital Bank)
อีกทั้งยังประกาศเดินหน้าขยายธุรกิจในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ฯลฯ
รวมถึงตั้งเป้าผลักดัน บริษัทลูก KASIKORN Business-Technology Group หรือ KBTG ขึ้นเป็น FinTech ชั้นนำของภูมิภาคในอีก 3 ปีข้างหน้า
ถัดมาคือ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB แม้ที่ผ่านมา การขยายธุรกิจของ กรุงไทยไม่ได้หวือหวามากนัก แต่ช่วง 1-2 ปีมานี้ “กรุงไทย”ถือว่าโดดเด่นมากขึ้นทุกด้าน
โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดโควิด-19 ที่ กรุงไทยมีบทบาทค่อนข้างมาก จากผู้อยู่เบื้องหลัง หรือทำระบบ แพลตฟอร์ม “เป๋าตัง” ในการส่งผ่านการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากภาครัฐ ส่งผลให้ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม หรือแอพฯ “เป๋าตัง” ขึ้นมามีฐานลูกค้า กว่า 30 ล้านคน
นอกจากบทบาทเป็นผู้ส่งผ่านการช่วยเหลือที่ธนาคารทำได้ดีมาก แต่อีกบทบาท คือบทบาทของธนาคาร ที่เรียกว่ามีการปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อต่อยอดการเติบโตในอนาคต ให้พร้อมก้าวสู่โลกใหม่ในอนาคตภายใต้ยุทธศาสตร์ ผ่านเรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier) และภายใต้เรือเร็ว (Speed Boat)เพื่อหาแผ่นดินใหม่ เสาะแสวงหาธุรกิจแบบใหม่ๆในการสร้างการเติบโตในระยะข้างหน้าให้กับแบงก์
ล่าสุด ที่ถือเป็นก้าวสำหรับสำหรับ กรุงไทย คือการเดินหน้ขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ ภายใต้ บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารที่เปรียบเสมือนเรือเร็ว (Speed Boat) ในการบุกเบิกธุรกิจใหม่ด้านดิจิทัลในอนาคต
ผ่านการจับมือกับ บริษัท เอคเซนเชอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก (Global Technology Firm) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ "Arise by Infinitas" เพื่อหวังขึ้นเป็นศูนย์กลางพัฒนาบุคคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รองรับการขยายธุรกิจของธนาคาร อินฟินิธัส และพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กรุงไทย หวังว่า การดำเนินธุรกิจครั้งสำคัญนี้ จะสามารถขับเคลื่อนองค์กร ไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว และเร่งให้ กรุงไทย สามารถปรับกระบวนการปฏิบัติงานต่างๆให้เป็นดิจิทัล และปรับไปสู่ Cloud-centric Model ได้เร็วยิ่งขึ้น
ซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคของธนาคารในระยะยาว
โดยการร่วมทุนครั้งนี้ หวังให้ “Arise by Infinitas” เป็นบริษัทที่ พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีมาตรฐาน มีประสบการณ์การทำงานระดับ World class ด้วยการสร้างฐานบุคลากรในประเทศ และดึงกลุ่ม Technology Talents จากต่างประเทศมาร่วมงาน พร้อมมีแผนจัดตั้ง Virtual Office ในอีกหลายประเทศ โดยคาดว่าภายใน 5 ปีจะมีมูลค่ากิจการสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท
สุดท้ายสดๆร้อนๆกันดีลการซื้อ “กิจการ” ของ ธนาคารยูโอบี ( UOB) ที่ประกาศซื้อธุรกิจรายย่อย พอร์ตลูกค้ารายย่อยจากธนาคารซิตี้แบงก์ใน 4 ประเทศ ทั้งไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย
ซึ่งถือเป็นม้ามืด สำหรับดีลซื้อกิจการครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ มีข่าวออกมาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับการเปิดแข่งราคาในการซื้อลูกค้าบัตรเครดิต และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ก่อนหน้านี้มีข่าวข่าวว่า หลายแบงก์เข้ามาประมูลซื้อพอร์ตดังกล่าวทั้ง ธนาคารกรุงเทพ(BBL) และธนาคารกรุงศรีอยุทธยา(BAY) ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB, , ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด
จนไฟนอล ก็ยังมีข่าวออกมาเหมือนแน่ชัดว่า กรุงศรีฯ คือคนที่ได้ ธุรกิจรายย่อยดังกล่าวไปครอบครองในที่สุด ด้วยมูลค่า เกือบ 7 หมื่นล้านบาท
สุดท้าย ยูโอบี ออกมาประกาศข่าวด่วน ในการประกาศซื้อดีลยักษ์ ครั้งนี้ จาก “ซิตี้กรุ๊ป” ใน 4 ประเทศไปอย่างม้ามือ โดยใช้เงินกว่า 4,915 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 1.2 แสนล้านบาท
ซึ่งดีลครั้งนี้ มีส่วนเกื้อหนุนให้ ยูโอบี ขึ้นสู่ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ และผู้ให้บริการบัตรเครดิต อันดับต้น ๆ ของตลาดอาเซียนทันที และมีฐานลูกค้าสู่ 5.2 ล้านราย จากเดิม 2.4 ล้านราย
ในส่วนของกิจการในไทย ยูโอบีคาดว่า การซื้อกิจการครั้งนี้ จะส่งผลให้ยูโอบีขึ้นมามีมาร์เก็ตแชร์สู่ระดับ 6 ในธุรกิจรายย่อยได้ จากเดิมอยู่ที่อันดับ 7 และธุรกิจบัตรเครดิตมาเป็นอันดับ 3 จากอันดับที่ 8 และมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านคน จากเดิม 1.3 ล้านราย
การซื้อกิจการครั้งนี้ ยูโอบีคาดว่า จะทยอยรับโอนธุรกิจรายย่อย จากซิติกรุ๊ป จาก 2ประเทศ คือไทย มาอยู่ภายใต้ยูโอบี ซี่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2ปีนี้ ขณะที่ครึ่งปีหลัง จะเป็นการทยอยโอนธุรกิจจากเวียดนาม และอินโด ซี่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งสองประเทศในไตรมาส 1ปี 2566
ทั้งนี้ สำหรับการโอนธุรกิจรายย่อยเข้ามาอยู่ภายใต้ยูโอบี เบื้องต้น พอร์ตลูกค้ายังคงใช้ชื่อ “ซิตี้”ตามเดิม ก่อนจะเปลี่ยนให้ลูกค้าทั้งหมดมาใช้ชื่อภายใต้ ยูโอบีทั้งหมดในปลายปี 2565
ซึ่งการซื้อกิจการรายย่อยครั้งนี้ ถือว่ามีนัยสำคัญ ต่อยูโอบีมาก เพราะจะมีส่วนหนุน ให้ ยูโอบีเติบโตได้เร็วขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งในด้านกำไร และอัตราส่วนผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่คาดว่าจะรับรู้ทันที จากการซื้อกิจการ และคาดปี 2566 ROE ของแบงก์จะขึ้นไปสู่ 13% ได้ จากเดิมที่อยู่ราว 10%
อีกทั้ง ยังมองว่า การซื้อกิจการครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่สำคัญ และทำให้ธนาคาร ขึ้นเป็นผู้นำตลาดไปอีก 5 ปี ที่เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพ ทำให้ธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีความสามารถในการตอบโจทย์ลูกค้าที่มากขึ้นในอนาคต