ครม.เคาะ “ศูนย์ธุรกิจ-เมืองใหม่”อีอีซี ดึงเอกชนพัฒนาพื้นที่ 1.4 หมื่นไร่
ครม.อนุมัติ “ศูนย์ธุรกิจ-เมืองใหม่” ใช้ที่ดิน สปก.บางละมุง 1.4 หมื่นไร่ ลงทุน 1.3 ล้านล้าน แบบพีพีพี รัฐลงทุนโครงสร้างพท่นฐาน 1.9 หมื่นล้าน ตั้งเป้าเมืองน่าอยู่ติดอันดับโลก
ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ใช้ประโยชน์ที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 14,619 ไร่ พื้นที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ
ทั้งนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่ให้คณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยความเห็นชอบ ครม.มีอำนาจให้ สกพอ.ใช้ประโยชน์ของ ส.ป.ก.เพื่อดำเนินการอื่นเหนือที่กำหนดในกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
นอกจากนี้ ครม.รับทราบมติ กพอ.ที่อนุมัติร่างระเบียบ กพอ.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ สกพอ.เข้าใช้ประโยชน์ เพื่อให้ สกพอ.และ ส.ป.ก.จ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.
สำหรับโครงการนี้ ครม.เห็นชอบให้ สกพอ.ขอรับจัดสรรงบในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 15,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 4,000 ล้านบาท รวม 19,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าชดเชยที่ดิน 10,000 ล้านบาท โครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบขั้นรายละเอียดและจัดทำรายละเอียดการให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) 1,000 ล้านบาท
โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) 200 ล้านบาท และโครงการปรับพื้นที่และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง 7,800 ล้านบาท
โครงการศูนย์ธุรกิจ EECและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะจะพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาคมาตรฐานเทียบเท่าสากลในอีอีซี และให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580 เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะต้นแบบสำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ทั่วประเทศ โดยจะพัฒนาระยะแรก 5,000 ไร่ โครงการมีที่ตั้งห่างจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา 15 กม. และห่างจากกรุงเทพฯ 160 กม. มีระยะการพัฒนา 10 ปี ระหว่างปี 2565-2575
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) กล่าวว่า โครงการนี้มีมูลค่าลงทุน 1.34 ล้านล้านบาท ใน 10 ปี (2566-2575) เพื่อรองรับธุรกิจใหม่และประชากร 350,000 คน ในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนเอกชนเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1.18 ล้านล้านบาท โครงการ PPP 131,119 ล้านบาท เพื่อจัดทำสาธารณูปโภคในเมือง ระบบขนส่งอัจฉริยะและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนของภาครัฐ 37,674 ล้านบาท แบ่งเป็น สกพอ. 28,541 ล้านบาท และภาครัฐอื่น 9,133 ล้านบาท ครอบคลุมเป็นค่าปรับพื้นที่ ค่าที่ดิน ค่าโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในเมือง โดยงบประมาณที่ ครม.เห็นชอบรวม 19,000 ล้านบาท สกพอ.จะคืนเงินต้นให้ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ย 4,832 ล้านบาท รวมวงเงิน 23,832 ล้านบาท ให้รัฐบาลภายใน 10 ปี
“ผลตอบแทนการลงทุนของตลอดอายุโครงการ 50 ปี จะมีรายได้รวม 43.31 ล้านล้านบาท โดยภาครัฐจะได้รับค่าเช่าที่ดิน ค่าส่วนกลาง ส่วนแบ่งรายได้จาก PPP รวม 270,000 ล้านบาท และเอกชนได้รับ 43.04 ล้านล้านบาท จากรายได้ระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่พาณิชย์ รวมกำไรตลอดโครงการ 39 ล้านล้านบาท”
ทั้งนี้ โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีจะรองรับความต้องการภาคธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะไม่แข่งขันกับธุรกิจในพื้นที่อื่น แต่จะเสริมส่วนที่ขาด 5 กิจการหลัก ได้แก่ ศูนย์ราชการ และสำนักงานใหญ่ภูมิภาค (RHQ) ศูนย์ธุรกิจการเงินภาคตะวันออก ศูนย์การแพทย์เพื่ออนาคต ศูนย์การศึกษา วิจัย-พัฒนา ระดับนานาชาติ ธุรกิจอนาคต เช่น พลังงานสะอาด ดิจิทัล โลจิสติกส์ และวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับนานาชาติ