ระบบเศรษฐกิจเพื่อความสุข | วิทยากร เชียงกูล
ประชากรโลกในปัจจุบัน ผลิต บริโภค และทิ้งขยะ เกินกว่าที่โลกจะรองรับได้อย่างสมดุลราว ร้อยละ 40 ถ้าจะพัฒนาให้ประชาชนทั้งโลกราว 7,000 ล้านคน มีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่โดยเฉลี่ยเท่ากับคนอเมริกัน จะต้องใช้ดาวเคราะห์โลกขนาดเดียวกันนี้ถึง 4 ดวง
ประชากรโลกในปัจจุบัน ผลิต บริโภค และทิ้งขยะ เกินกว่าที่โลกจะรองรับได้อย่างสมดุลราว ร้อยละ 40 ถ้าจะพัฒนาให้ประชาชนทั้งโลกราว 7,000 ล้านคน มีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่โดยเฉลี่ยเท่ากับคนอเมริกัน จะต้องใช้ดาวเคราะห์โลกขนาดเดียวกันนี้ถึง 4 ดวง จึงจะรองรับขนาดทางเศรษฐกิจของประชากรโลก โดยไม่เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศได้
ดังนั้น การจำกัดขนาดเศรษฐกิจให้เติบโตเป็นศูนย์หรือใกล้เคียง ลดการผลิตและการบริโภคโดยรวมลง โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยเกินกว่าความจำเป็นในการดำรงชีพและในการรักษาระบบนิเวศให้ยั่งยืน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำ
เพื่อชะลอการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศโลกและเพื่อความสุขที่แท้ การพัฒนาซึ่งต่างจากการเน้นการหาเงินและการบริโภค การจะสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ได้จริงต้องการการคิดแบบใหม่ และลงมือใช้ชีวิตแบบใหม่อย่างจริงจัง
ตัวอย่างที่เป็นไปได้และมีผู้ลงมือทำแล้ว ดังต่อไปนี้
1. การลดชั่วโมงการทำงานของทั้งระบบเศรษฐกิจ ลดเวลาการทำงานของแต่ละคนลง เพื่อเกลี่ยงานให้คนทั้งหมดหรือส่วนใหญ่มีงานทำโดยไม่ตกงาน แต่ต้องจ่ายค่าจ้างให้คนอยู่ได้ เลิกเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณ เพื่อควบคุมระดับผลผลิตและรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยบริโภคสินค้าและบริการให้อยู่ในระดับที่จำเป็น
การปฏิรูประบบการทำงานด้วยลดชั่วโมงการทำงานของทั้งระบบเศรษฐกิจลงมา จะทำให้เกิดผลดีหลายด้าน เช่น
- ลดความจำเป็นของการบริโภค อาหารแบบเร่งรีบ (Fast Food) รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปแบบแช่แข็งที่มีคุณภาพต่ำ/สร้างมลภาวะ
- มีเวลาที่จะนำสิ่งของหลายอย่าง เช่น กระดาษ พลาสติก โลหะ ขยะชนิดต่างๆ กลับมาใช้งานใหม่ (Reuse) หรือแปรรูปไปใช้ใหม่ (Recycle) ได้มากขึ้น
- ลดการใช้พลังงานในการเดินทางไปทำงานลง มีเวลาที่จะเลือกทำสิ่งที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น เอาผ้าที่ซักไปตากแดด แทนที่จะใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าปั่นให้แห้ง การขี่จักรยานหรือเดินหรือใช้รถสาธารณะไปซื้อของหรือทำธุระ แทนการใช้รถยนต์ ลดการใช้พลังงานและลดภาวะโลกร้อน
- ช่วยแก้ปัญหาการว่างงานที่เป็นปัญหาใหญ่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลระหว่างการผลิตลันเกินและการบริโภคต่ำเกิน เนื่องจากคนขาดรายได้หรือมีรายได้น้อยลง ช่วยให้คนมีเวลาว่าง ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมเพื่อคุณภาพชีวิต มีความสุข ความพอใจเพิ่มขึ้น
2. การใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบสมัครใจ ขบวนการ Voluntary Simplicity ใช้ชีวิตเรียบง่ายโดยสมัครใจ มองว่าลัทธิบริโภคนิยมในปัจจุบันคือตัวการใหญ่ที่สุดที่ทำลายระบบนิเวศของโลก
และเราควรเปลี่ยนแปลงคำนิยมและพฤติกรรมของคนจากลัทธิบริโภคนิยมที่เชื่อที่ว่า เงินคือสิ่งที่หาความสุข ความพอใจได้ทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องจริง เรื่องจริงคือชีวิตที่ดีของมนุษย์ต้องการปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ดี สร้างสรรค์หลายอย่าง
คนกลุ่มนี้เห็นว่าค่านิยมและพฤติกรรมที่ควรมาแทนที่ลัทธิบริโภคนิยม (ที่เน้นความเห็นแก่ตัว) คือการแบ่งปันที่เป็นธรรม ลดการเอาเปรียบทั้งคนและธรรมชาติ เอาใจใส่ต่อกันและกัน และร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของชุมชน ซึ่งจะประโยชน์ส่วนตัวของเราแต่ละคนในระยะยาวมากกว่าการแก่งแย่งแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน
ความเรียบง่ายสร้างความสุข ความพอใจให้มนุษย์ได้อย่างไร
1) การใช้ชีวิตอย่างประหยัดเรียบง่าย บริโภคลดลง เท่าที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิต และความต้องการทางวัฒนธรรม ทำให้เรามีเวลาที่จะติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่น หรือใช้ชีวิตกับธรรมชาติกับสิ่งที่เราชอบได้มากขึ้น มีความพอใจ ความมั่นคง และความสมดุลในชีวิตมากขึ้น
2) การเลือกที่จะใช้ชีวิตเรียบง่ายโดยสมัครใจ ทำให้เรามีเวลาที่จะคิดและเลือกทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราในระยะยาวอย่างแท้จริงมากขึ้น เช่น ลดชั่วโมงการทำงานและลดการไปเดินซื้อของและใช้บริการต่างๆ ลง
และลองมานั่งคิดดูว่า อะไรคือ “ชีวิตที่ดี” อะไรคือ “ธรรมชาติของความสุข” เราจะพบว่า การมุ่งหาเงินให้มากเกินระดับที่จะใช้ยังชีพ ไม่ได้ทำให้คนเรามีความสุขเพิ่มขึ้นตามจำนวนเงินแต่อย่างใด การดิ้นรนทำงานหนักเพื่อซื้อของบริโภคมากขึ้น ยิ่งทำให้เราเหนื่อย เครียด เบื่อ มากกว่าขึ้นด้วยซ้ำ
การเลือกใช้ชีวิตเรียบง่ายโดยสมัครใจ คือการเพิ่มประโยชน์ให้กับตัวเราเอง ทำให้เรามีชีวิตที่สมดุลน่าพอใจและช่วยลดมลภาวะในระบบนิเวศ นี่คือ “การทำน้อยลงที่ได้ผลมากขึ้น” (Less is More) ทำให้คนเรามีความรู้สึกมั่นคงในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้น มีความสงบสันติเพิ่มขึ้น มีความพออกพอใจความสุขเพิ่มขึ้น
รศ.วิทยากร เชียงกูล
3) ประชาชนช่วยกันเรียกร้องผลักดันภาครัฐให้มีนโยบายส่งเสริมการปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมืองด้วย เช่น กระจายทรัพย์สินและรายได้ให้มีความเท่าเทียมกันระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น
เพื่อช่วยให้คนที่เคยมีรายได้ต่ำดูแลรักษาสุขภาพตัวเองได้ดีขึ้น การมีกินมีใช้อย่างพอเพียง ได้รับการยอมรับนับถือและศักดิ์ศรี จะมีผลทำให้พวกเขาเครียดน้อยลงด้วย
ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่ง (หรือเป็นวงจรอุบาทว์) ในการส่งเสริมลัทธิบริโภคนิยม
เพราะการซื้อของเป็นการคลายเครียดอย่างหนึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรม แม้แต่คนที่มีรายได้น้อยก็ชอบกู้มาซื้อหรือซื้อแบบผ่อนส่ง เพราะนายทุน นายธนาคารมุ่งหากำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้
คนที่รายได้ต่ำเวลาไปซื้อของ พวกเขาจะรู้สึกหายเครียดได้แค่ชั่วคราว รู้สึกว่าการเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติเป็นการยกฐานะทางสังคมของตนเอง แต่พอถึงเวลาที่พวกเขาต้องใช้หนี้ สภาพที่พวกเขามีรายได้ต่ำ มีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ กลับทำให้พวกเขายิ่งเครียดมากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม สังคมที่มีการกระจายทรัพย์สินรายได้ที่เป็นธรรมขึ้น จะส่งเสริมให้ประชาชนเลือกการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายเพื่อประโยชน์ด้านจิตใจ และด้านส่งเสริมระบบนิเวศที่สุขภาพดีได้มากกว่า