ส่งต่อคบไฟให้คนรุ่นหลัง - อัตชีวประวัติ | วิทยากร เชียงกูล
ชื่อบทความนี้คือชื่อหนังสือเล่มล่าสุดของผม จัดพิมพ์โดยสถาบันวิชาการ 14 ตุลาคม (จัดจำหน่ายโดยเคล็ดไทย) จะมีงานเปิดตัวหนังสือและอภิปรายกันเรื่อง “50 ปี 14 ตุลา และอนาคตของประเทศ” ที่เวทีเปิดในงานสัปดาห์หนังสือ ศูนย์สิริกิติ์ วันอาทิตย์ที่ 23 ต.ค.นี้ เวลา 19.00-20.00 น.
ผมเขียนหนังสืออัตชีวประวัติเล่มนี้ขึ้นมา เพราะผมมีทัศนะคติแบบอรรถประโยชน์นิยม ที่มองว่าเรื่องชีวิตส่วนตัวของคนเรานั้นในบางด้านก็เกี่ยวข้องกับเรื่องชีวิตสังคมส่วนรวมด้วย เนื่องจากปัจเจกชนต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ผมเห็นว่าประสบการณ์และความคิดของคนๆ หนึ่ง ในฐานะนักคิดนักเขียนและพลเมืองที่เริ่มอาวุโสคนหนึ่ง น่าจะบันทึกไว้ให้เป็นประโยชน์สำหรับการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับคนอื่นๆ รวมทั้งเผื่อแผ่ไปถึงคนรุ่นหลังที่บางคนน่าจะมาช่วยถือคบไฟต่อจากคนรุ่นเราด้วย
การเขียนงานชิ้นนี้ในอีกแง่หนึ่งคือการกลับไปพิจารณาใคร่ครวญถึงชีวิตที่ผ่านมาของตนเองและบันทึกไว้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางสังคม ที่มีผู้คนในยุคสมัยเดียวกันจำนวนมากต่างมีบทบาทร่วมกันอยู่ในแง่ใดแง่หนึ่ง
งานชิ้นนี้เริ่มต้นมาจากการที่ผมเคยเขียนประสบการณ์ในการอ่านและเขียนหนังสือตอนเป็นนักศึกษา พิมพ์เป็นหนังสือเล่มบางๆ เรื่อง “ทำไมฉันจึงมาหาความหมาย” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์แกรมมี่ ในปี 2536 (งานรำลึก 20 ปี 14 ตุลาฯ) อีก 8 ปีต่อมา
ผมแก้ไขงานชิ้นนี้เพิ่มเติมและพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ คู่มือนักอ่านและผู้ใฝ่การเรียนรู้ และการเรียนรู้ โดยสายธาร ในปี 2544 เป็นเรื่องราวชีวิตผู้เขียนในช่วงวัยรุ่นและวัยหนุ่มที่เน้นเรื่องการอ่าน การเขียน การทำหนังสือ
จากงาน 2 ชิ้นนั้นทำให้ต่อมาได้ความคิดว่าผมน่าจะเขียนเรื่องอัตชีวประวัติเพิ่มเติมตั้งแต่วัยเด็กจนถึงยุคปัจจุบัน ผมเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้หลังจากผมอายุ 60 ปี (พ.ศ. 2549) แล้ว และปรับปรุงแก้ไขอยู่เป็นช่วงๆ จนถึงปี 2563-2564 ซึ่งเป็นปีที่ผมเกษียณจากงานประจำและอยู่ในวัย 75 แล้ว จึงได้เขียนจนจบเป็นเล่มได้
เรื่องอัตชีวประวัตินี้ผมเขียนจากความทรงจำ การนึกย้อนหลัง และการเข้าใจ/ตีความของผมเองในภายหลัง อาจจะคลาดเคลื่อนไปจากความจริงบ้าง อาจเป็นการเลือกกล่าวเฉพาะบางแง่บางมุมเท่าที่ผมจำได้ (หรือสมองเลือกที่จะจำ)
ผมเขียนเป็นแค่เรื่องเล่า ไม่ตั้งใจให้เป็นงานวิชาการ จึงไม่กลับไปค้นคว้าหาความจริงทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม ถ้าจะมองว่างานชิ้นนี้เป็นเรื่องแต่งขึ้นใหม่ก็อาจจะมองได้ เพราะแม้แต่งานเขียนทางวิชาการ/สารคดีประเภทที่เราเรียกว่าประวัติศาสตร์นั้นในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่คนแต่งขึ้นทั้งนั้น
แต่อย่างน้อยผมเชื่อว่านี่น่าจะเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับชีวิตและสังคมและให้ความบันเทิงในการอ่านได้ด้วยเล่มหนึ่ง
ส่วนที่เป็นอัตชีวประวัติประกอบไปด้วย 11 บท ตามลำดับเวลา กล่าวคือ 1. ฝันของเด็กชายจากชนบท (2489-2503) นี่คือประวัติศาสตร์ทางสังคมของชีวิตผู้คนในอำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งด้วย 2. เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ (2503-2508) ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่ได้เริ่มอ่านหนังสือและเรียนรู้เรื่องชีวิตที่สำคัญ
3. “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง” (2508-2512) 4. “ฉันจึง มาหา ความหมาย” (2508-2512) 2 บทนี้คือช่วงที่ผมเป็นนักศึกษา กล่าวถึงบทบาทการเขียน การทำงานหนังสือ และกิจกรรมอื่นในยุคแสวงหา 5. “จะสอยดาวสาวเดือนที่เกลื่อนฟ้า” (2512-2516) ชีวิตช่วงทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ (นิตยสาร) นักเขียน นักวิจัย ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
6. เพื่อชีวิตและโลกที่ดีกว่า - กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 7. เมื่อไหร่ “ฤดูใบไม้ผลิจักมาถึง” (2520-2530) ชีวิตช่วงหลัง 6 ตุลาคม 19 และการเปลี่ยนงานจากนักวิจัยทางเศรษฐกิจไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย 8. ครอบครัวมาก่อน และงานใหม่ในกรุงเทพฯ (2531-2534) 9. กลับมาทำงานวิจัยที่ธนาคารอีกแห่งหนึ่ง เป็นผู้บริหาร/อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต (2534-2561) 10. เรียนรู้การเป็นพ่อและการศึกษาของลูกสาว 11. ปัญหาใหญ่ในชีวิตและบทสรุป
ในภาคที่ 2 ผมได้เขียนบรรณานิทัศน์แบบแนะนำสรุปสาระสำคัญหนังสือที่ผมเขียนและแปลในรอบ 50 ปี (พ.ศ. 2514-2564) มีทั้งงานวรรณกรรม บทความ สารคดี งานวิชาการและกึ่งวิชาการทั้งทางเศรษฐศาสตร์การเมือง จิตวิทยา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ การศึกษา ฯลฯ รวมแล้ว 166 เล่ม
หนังสือเหล่านี้เป็นส่วนที่สำคัญในชีวิตการอ่าน การเรียนรู้ ประสบการณ์ และการทำงานของผม ที่สนใจมองเรื่องต่างๆ ในชีวิตและสังคมจากมุมมองของหลายสาขาวิชาการอย่างพยายามเชื่อมโยงเป็นองค์รวม ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นด้วย
ผมสรุปสาระสำคัญของหนังสือแต่ละเล่มไว้เพื่อให้ผู้อ่านพอมองเห็นภาพสาระความรู้ ความคิดเห็นจากงานเขียนและแปลของผมในปีต่างๆ (ซึ่งหมายถึงการเมืองสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปและวัยที่สูงขึ้นตามลำดับด้วย)
แม้จะกล่าวถึงแต่ละเล่มอย่างสั้นๆ คร่าวๆ ก็ตาม อย่างน้อยผู้อ่านน่าได้เห็นพัฒนาการทางความรู้ ความเข้าใจ ความสนใจ ความคิด อารมณ์ความรู้สึก ทัศนคติ ค่านิยมของผมในฐานะนักศึกษาเรื่องชีวิตและสังคมคนหนึ่งในสังคมไทยในช่วง 50 ปีนั้น.
“คนเราไม่ได้ใช้ชีวิตเพียงแค่ชีวิตส่วนตัวของเขาในฐานะปัจเจกชน แต่ยังคงใช้ชีวิตของยุคสมัยและของเพื่อนร่วมยุคของเขาด้วย ไม่ว่าจะโดยมีจิตสำนึกหรือไม่ก็ตาม”
โทมัส มานน์ (1875-1955)
นักเขียนนวนิยายและบทความชาวเยอรมัน ได้รับรางวัลโนเบลทางวรรณกรรม ปี 1929
------------
“สำหรับผม ชีวิตไม่ใช่เป็นเพียง “เทียนแท่งหนึ่งที่ลุกไหม้อยู่เพียงชั่วครู่”
มันคือคบไฟแสนวิเศษที่ผมได้เป็นผู้ถืออยู่ในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่ง
และผมต้องการทำให้มันส่องสว่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ก่อนที่จะส่งต่อคบไฟนั้นให้คนรุ่นหลัง”
จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (1856-1950)
นักเขียนบทละคร นักวิจารณ์และนักปฏิวัติสังคมชาวไอริช