เปิดนโยบายปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ขับเคลื่อนโรงงานคู่ชุมชนยั่งยืน

เปิดนโยบายปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ขับเคลื่อนโรงงานคู่ชุมชนยั่งยืน

กระทรวงอุตสาหกรรม รีแบรนด์สู่ MIND ขับเคลื่อนนโยบายปี 2566 ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมดีอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” เชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบาย 4 มิติ ส่งเสริมธุรกิจ ดูแลชุมชน รักษาสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้เพื่อคุณภาพชีวิต พัฒนาอุตสาหกรรมอย่างสมดุล และยั่งยืน

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ MIND เปิดเผยถึงนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2566 ว่า กระแสเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวรวมทั้งเศรษฐกิจไทย หลังจากวิกฤติโควิด-19 โดยล่าสุดข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุ GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้น 4.5% ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 99.06 ขยายตัวขึ้น 2.20%

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังคงผันผวนจากหนี้สาธารณะของหลายประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยเกือบ 100% อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2566 อาทิ สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยการส่งออกหดตัว ภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันแพง ค่าเงินบาทอ่อน และดอกเบี้ยสูง ทำให้สินค้าจำเป็นมีการปรับราคาสูงขึ้น

 

อีกทั้ง ปัญหาด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่เริ่มแข่งขันได้ยากขึ้น อาทิ ต้นทุนด้านแรงงาน และการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปัญหาด้านภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมต่อประชาชน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม  

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนตามแนวคิด “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” ซึ่งการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ผ่าน 4 มิติจะส่งผลดีต่อธุรกิจ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้ ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่ S-curve ที่มุ่งเน้นการผลิต และโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยประกอบด้วย 

เปิดนโยบายปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ขับเคลื่อนโรงงานคู่ชุมชนยั่งยืน มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ การปรับธุรกิจให้เหมาะสมกับโลกอนาคต การแข่งขันด้านประสิทธิภาพ และต้นทุน รวมถึงการลดผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน เพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมฐานราก อาทิ เกษตรอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์แห่งอนาคต  

มิติที่ 2 การดูแลชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งยามปกติ และเมื่อเกิดวิกฤติ เพื่อลดความเสี่ยงข้อขัดแย้ง และกระตุ้นให้เกิดการประกอบการที่ดี ปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ประชาชน 

มิติที่ 3 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2050 และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ.2065 

มิติที่ 4 การกระจายรายได้ให้กับประชาชน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เน้น “การสร้างงาน สร้างอาชีพ” ให้คนรุ่นใหม่ต่อยอดอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวหรืออัตลักษณ์ชุมชน ขณะเดียวกันจะกระตุ้นผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ทำงานร่วมกับชุมชน และเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์
เปิดนโยบายปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ขับเคลื่อนโรงงานคู่ชุมชนยั่งยืน