‘นักวิชาการ’ แนะทำแผนภาคเกษตร ช่วงเปลี่ยนผ่านเลิกนโยบาย 'ประกันรายได้'
“นักวิชาการ” ชี้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มหนุน รัฐบาลใหม่ถอยมาตรการประกันรายได้ ชี้รัฐบาลก้าวไกลด้นใช้ระบบชลประทาน-จัดการที่ดินเคลื่อนเกษตร โดยไม่ใช้กลไกราคา แนะรัฐบาลใหม่ทำแผนช่วงเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรดูแลกลุ่มเกษตรกรเปราะบางใช้เกษตรผสมผสานเพิ่มรายได้
Key points
- นโยบายประกันรายได้เป็นนโยบายที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ใช้มาต่อเนื่อง มีการใช้งบประมาณในช่วง 4 ปีที่ผ่านมารวม 2.1 แสนล้านบาท
- นอกจากการจ่ายส่วนต่างหากราคาตลาดต่ำแล้ว ยังมีการจ่ายเงินค่าช่วยเหลืออื่นๆ
- พรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่มีนโยบายประกันรายได้ แต่ใช้นโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และจัดการชลประทาน
- นักวิชาการฯมองว่าการยกเลิกมาตรการประกันรายได้ขณะนี้เ้ป็นช่วงเวลาที่ดีเพราะสินค้าเกษตรราคาสูง
- ช่วงที่ยกเลิกมาตรการประกันรายได้ต้องมีแผนช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มเปราะบางด้วยเกษตรผสมผสาน
"นโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตร" เป็นนโยบายต่อเนื่องของ “รัฐบาลประยุทธ์” โดยใช้การจ่ายส่วนต่างราคาให้กับเกษตรกรในพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิดได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และยางพาราคา โดยมีการดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการคู่ขนาน เช่น การให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือการเก็บเกี่ยวผลผลิต การให้สินเชื่อกับกลุ่มเกษตรกรเพื่อชะลอการขายสินค้าเกษตร เป็นต้น
ที่ผ่านมานโยบายประกันรายได้ 4 ปีที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 – 2566 รัฐบาลใช้งบประมาณในโครงการประกันรายได้ โดยจ่ายส่วนต่างให้กับเกษตรกรรวมเป็นวงเงิน 218,158 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 298,679 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรได้ 8.13 ล้านครัวเรือน
อย่างไรก็ตามในแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายในการทำเรื่องการประกันรายได้สินค้าเกษตรและจะมีการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับภาคเกษตรด้วยนโยบายอื่นๆแทน โดย
ก่อนหน้านี้ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลระบุว่าในช่วงเวลาที่สินค้าเกษตรปรับราคาขึ้นเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการที่รัฐบาลจะถอยนโยบายประกันรายได้ที่ใช้มาต่อเนื่องหลายปีเพื่อดำเนินนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่านโยบายของพรรคก้าวไกลนั้นไม่มีนโยบายเรื่องการประกันรายได้สินค้าเกษตร แต่จะมุ่งไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกโดยใช้นโยบายการจัดการชลประทาน และการจัดการที่ดิน ซึ่งเป็นนโยบายที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่จะมุ่งไปที่เรื่องกลไกราคาของสินค้าเกษตร (Pricing Policy) มาเป็นการจัดการที่ด้านคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรแทน
เอลนิญโญดันราคาสินค้าเกษตรสูง
ทั้งนี้ในช่วงเวลาปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงเวลที่เหมาะสมในการที่รัฐบาลจะยกเลิก หรือค่อยๆถอนนโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตรออกเนื่องจากในปีนี้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาประกันค่อนข้างมาก อย่างข้าวขาว 5% ราคาข้าวปรับขึ้นไปถึง 1.1 – 1.2 หมื่นบาทต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิชนิดพิเศษของไทยในปีนี้ล่าสุดราคาขึ้นไปอยู่ที่ 1,064 ดอลลาร์ต่อตัน ข้าวหอมไทยราคาอยู่ที่ 664 ดอลลาร์ต่อตัน ข้าวสาร 25% ราคาอยู่ที่ 491 ดอลลาร์ต่อตัน เป็นต้น
โดยราคาข้าวที่ปรับขึ้นในปีนี้มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภาวะเอลนีโญ่ทำให้หลายประเทศปรับเป้าหมายในการส่งออกข้าวจากผลผลิตที่ลดลง และมีการสำรองข้าวไว้เป็นความมั่นคงทางอาหารของประชากรในประเทศมากขึ้น
เวียดนามลดเป้าส่งออกข้าวรับผลผลิตน้อย
โดยเวียดนามปรับเป้าการส่งออกข้าวจากปีก่อนส่งออกได้ 7.2 ล้านตันในปีก่อน ปรับลดเป้าหมายในการส่งออกข้าวในปีนี้เหลือ 6 ล้านตัน เช่นเดียวกับอินเดีย และจีนที่มีการสำรองปริมาณข้าวเพื่อเป็นความมั่นคงทางอาหารของประชาชนมากขึ้นเพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารในประเทศ ทำให้ปริมาณข้าวที่ส่งออกสู่ตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆก็มีราคาปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาประกันเช่นกัน เช่น ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาเฉลี่ยประมาณ 8 บาทต่อกิโลกรัมโดยราคาสูงขึ้นตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่วนราคาปาล์มน้ำมัน และราคามันสำปะหลังก็อยู่ในระดับราคาที่สูงกว่าราคารับประกันรายได้ ซึ่งเกษตรกรที่เพาะปลูกได้กำไร ยกเว้นราคายางพาราที่ยังไม่ฟื้นตัวเนื่องจากดีมานต์การใช้ยางพาราในการทำถุงมือยางลดลง
“ในช่วงเวลาปัจจุบันถือว่าเป็นโชคดีของรัฐบาลใหม่ที่จะสามารถยกเลิกนโยบายประกันรายได้เกษตรกรได้ เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิด โดยเฉพาะข้าวที่มีราคาสูงขึ้นมาก ซึ่งที่จริงแล้วเป็นโอกาสของชาวนาในการจะขายข้าวได้ในราคาแพง แต่ปัญหาก็คือเรื่องภาวะภัยแล้วรุนแรงจากภาวะเอลนีโญ่ทำให้ชาวนาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกข้าวทำให้ผลผลิตข้าวจะมีน้อย ทำให้การส่งออกข้าวของไทยในปีนี้อาจไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ ดังนั้นเรื่องของการแก้ปัญหาภัยแล้งจะเป็นประเด็นใหญ่ในการบริหารงานของรัฐบาลใหม่ต่อไป”
แนะดูแลเกษตรกรกลุ่มเปราะบางเพิ่มทำเกษตรผสมผสาน
สำหรับกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจากช่วงการเปลี่ยนผ่านนโยบายจากการประกันราคาไปเป็นนโยบายอื่นๆนายสมพร กล่าวว่ารัฐบาลใหม่ก็ต้องมีมาตรการในการดูแลเกษตรกรที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องที่ดิน เช่น ขาดที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินทำกินน้อย หรือปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนขาดรายได้จากส่วนอื่น
ซึ่งก็ควรมีมาตรการในการช่วยเหลือควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้เรื่องการทำเกษตรผสมผสาน เช่น ปลูกข้าวส่วนหนึ่ง ปลูกพืชผักสวนครัวส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเลี้ยงปลาเพื่อเป็นรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมาตการในลักษณะนี้ใช้เวลามากในการปรับเปลี่ยน แต่เมื่อทำสำเร็จแล้วเกษตรกรจะมีรายได้ที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้