'ม.หอการค้าฯ' ประเมินเม็ดเงินช่วงหยุดยาว 6 วัน ใช้จ่ายสูงสุด 9 พันล้านบาท
ม.หอการค้าฯประเมินเม็ดเงินช่วงหยุดยาว 6 วัน 6 – 9 พันล้านบาท ชี้ประกาศวันหยุดเพิ่ม31 ก.ค.ดันเงินสะพัดเพิ่ม จากข้าราชการ – รัฐวิสาหกิจ ขยายแพลนท่องเที่ยวต่อ ชี้การใช้จ่ายคนเริ่มคึกคักในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าม.หอการค้าฯ ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงวันหยุดยาว 6 วัน (28 ก.ค. – 2 ส.ค.2566) ประมาณ 6,000 – 9,000 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เป็นการคาดการณ์เฉพาะวันหยุดในช่วงวันที่หยุดในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 5,000 – 7,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขการประเมินในปีนี้ใกล้เคียงกับที่เคยมีการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันหยุดวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาที่ตอนนั้นมีเงินสะพัดประมาณ 6,400 ล้านบาท
ก่อนที่จะลดลงเหลือประมาณ 3,600 ล้านบาทในปี 2562 เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการใช้จ่ายในเทศกาลวันหยุดยาวของประชาชนเริ่มมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
ทั้งนี้การประกาศวันหยุดพิเศษวันที่ 31 ก.ค.2566 แม้ว่าการประกาศให้หยุดของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะค่อนข้างกะทันหัน ซึ่งคนที่จะได้หยุดคือข้าราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตามบริษัทเอกชน ธนาคาร และโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ได้ประกาศให้เป็นวันหยุดเนื่องจากมีระยะเวลาในการเตรียมวันหยุดล่วงหน้าน้อยเกินไป
อย่างไรก็ตามการที่มีวันหยุดเพิ่มในวันที่ 31 ก.ค.ก็จะทำให้ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีโอกาสได้หยุดนั้นมีการท่องเที่ยวต่อเนื่องมีผลต่อการจองโรงแรมที่พัก ซึ่งก็จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มเติม โดยคาดว่าบรรยากาศในแหล่งท่องเที่ยวรวมทั้งวัดวาอารามจะมีประชาชนไปทำบุญกันอย่างคึกคัก
“ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในวันจะมีมาก เม็ดเงินจะสะพัดเพราะคนหาที่พึ่งทางใจมากขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว