เอเชียต้องตื่น! Fed เตือนเตรียมรับมือ ‘เศรษฐกิจอันเจ็บปวด’ วิกฤติกำลังจะมาถึง

เอเชียต้องตื่น! Fed เตือนเตรียมรับมือ ‘เศรษฐกิจอันเจ็บปวด’ วิกฤติกำลังจะมาถึง

สองยักษ์ใกล้ล้ม จ่อสะเทือน “เอเชีย” ด้วย! สื่อนอกวิเคราะห์ “เอเชีย” ย่ามใจเกินไปหรือไม่ หลัง “สหรัฐ” ขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อต่อเนื่อง ด้าน “จีน” โตช้าสุดในรอบ 30 ปี “ญี่ปุ่น” ค่าเงินยังอ่อนไม่หยุด มอง “เอเชีย” ส่อสะเทือนในไม่ช้า ถ้ายังพึ่งพายักษ์ในวันที่ยักษ์ป่วย!

สภาวะเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองยักษ์เศรษฐกิจโลกอย่าง “จีน” และ “สหรัฐ” ที่ผ่านมาสหรัฐต้องเผชิญกับเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง ภาคการบริโภคไม่ฟื้น ด้าน “จีน” เองก็ใกล้เข้าสู่สภาวะ “Lost decade” คล้ายกับ “ญี่ปุ่น” ในช่วงวิกฤติซับไพรม์เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ “สหรัฐ” และ “จีน” เท่านั้น แต่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก อย่าง “ยุโรป” และ “ญี่ปุ่น” เอง ก็อ่อนแอลงไม่น้อย

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สื่อนอกวิเคราะห์-แสดงความกังวลถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นว่า อาจกลายเป็น “โดมิโน” สะเทือนถึงประเทศขนาดกลาง-เล็กที่ยังต้องพึ่งพาประเทศเหล่านี้ในการขับเคลื่อนเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียที่ดูจะนิ่งเงียบดูดายกับคลื่นใต้น้ำ ณ ขณะนี้ เว็บไซต์นิตยสาร “ฟอร์บส์” (Forbes) ให้ความเห็นว่า ไม่นานหลังจากนี้ “สหรัฐ” จะเริ่มชะลอการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยลง หลังจากเศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเล็กน้อยแม้ว่าภาคการบริโภคจะยังไม่ฟื้นดี โดยคาดการณ์ว่า “เฟด” จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยนับเป็นการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากที่สุดนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา

ด้าน “คาซูโอะ อูเอดะ” (Kazuo Ueda) ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ “BOJ” มองว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังเป็นสิ่งจำเป็นแม้ว่าขณะนี้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศจะยังสูงต่อเนื่อง รวมถึงค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่ามากสุดในรอบ 30 ปี “อูเอดะ” ยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอถึงขีดสุดขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของ “ญี่ปุ่น” อย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก “จีน” เป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น โดยรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า ค้าปลีก การลงทุน และภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับ “อ่อนแอ” โดยผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นมองว่า น่าจะเป็นผลสะเทือนต่อเนื่องจากฟองสบู่อสังหาฯ จีน ซึ่งแน่นอนว่า มีผลกระทบกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วย

“ฟอร์บส์” ให้ความเห็นว่า จากสถานการณ์ของประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลกที่เกิดขึ้น “เอเชีย” ไม่ควรมองข้ามความเสี่ยงเหล่านี้ ภาวะถดถอยของ “สหรัฐ” จะเกิดขึ้นคู่ขนานไปพร้อมกับการเติบโตของ “จีน” ที่ช้าที่สุดในรอบสามทศวรรษ พร้อมกันกับความวุ่นวายใน “ยุโรป” และ “ญี่ปุ่น” ที่ยอมให้ค่าเงินเยนอ่อนลงในรอบ 33 ปี นอกจากความถดถอยทางเศรษฐกิจแล้ว สถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐก็น่ากังวลไม่น้อยเช่นกัน คำถามสำคัญก็คือ “หนี้” ของประชากรแถบเอเชียที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ “เฟด” น่ากังวลมากน้อยแค่ไหน “เอเชีย” ต้องคิดหนักกับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองอย่างไร และวิกฤติครั้งนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

 

อ้างอิง: Forbes