ถอดบทเรียน กม. ‘Aging Society’ ญี่ปุ่น สภาพัฒน์ จับมือ JICA รับมือสังคมสูงวัย

ถอดบทเรียน กม. ‘Aging Society’ ญี่ปุ่น สภาพัฒน์ จับมือ JICA รับมือสังคมสูงวัย

"สภาพัฒน์" หารือ "ไจก้า" ถอดบทเรียนญี่ปุ่นเข้าสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ศึกษากฎหมายเพื่อตั้งรับกับสังคมสูงวัย เล็งปรับนิยามสูงอายุไม่ได้วัดโดยวัยอย่างเดียว พร้อมดันเศรษฐกิจ Silver Economy เป็นทางเลือกเพิ่มรายได้ให้ผู้สูงอายุ ควบคู่ปรับปรุงงบประมาณรับอนาคต

ในปี 2566 สังคมไทยเริ่มสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวนมากเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด

จากข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 มีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็น 19.21% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน ในจำนวนผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคนนี้ เป็นชาย 5.6 ล้านคน และหญิง 7.07 ล้านคน โดยกลุ่มที่มากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่ง คือ กลุ่มอายุ 60-69 ปี

การเข้าสู่สังคมสูงอายุทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายด้าน ทั้งเรื่องการจัดระบบรักษาพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุในระดับครัวเรือน และท้องถิ่น  ขณะเดียวกันในเรื่องงบประมาณ และรายจ่ายของประเทศก็เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมซึ่งอาจจะมีการศึกษา และร่วมมือกับหน่วยงานของประเทศอื่นๆที่มีประสบการณ์ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาก่อน เช่น ประเทศญี่ปุ่นว่ามีแนวทางในการเตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง

เมื่อเร็วๆนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ประชุมหารือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA (Japan International Cooperation Agency) โดยมี นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุม  และมี Mr. Kazuya SUZUKI, Chief Representative JICA  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ JICA จำนวน 4 ท่านเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการทำงานร่วมกันในการจัดทำแนวทางตั้งรับและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อรองรับสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ ณ ห้องประชุมสุนทร หงส์ลดารมภ์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

โดยในการประชุมหารือ ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานและความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือกันอย่างรอบด้าน โดย "JICA" นำเสนอประสบการณ์ในการตั้งรับสังคมสูงวัยของประเทศญี่ปุ่น โดยมีเรื่อง การออกกฎหมายเพื่อตั้งรับกับสังคมสูงวัย (Basic Law on Measures for the Aging Society) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 กำหนดญี่ปุ่นให้เป็น Age-free society ที่ไม่มองความสูงวัยในมิติด้านอายุเป็นหลัก รวมถึงมีมาตรการรองรับ ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการจ้างงาน/รายได้ สุขภาพและสวัสดิการ การเรียนรู้และการมีส่วนร่วม สภาพแวดล้อมที่อาศัย การวิจัยและพัฒนา และการสนับสนุนความสำเร็จของทุกเจเนอเรชั่น

 อีกทั้ง ยังมีการประเมินภาระค่าใช้จ่ายด้านการจัดสวัสดิการต่อรายได้ของรัฐบาลซึ่งควรมีการปฏิรูปโครงสร้างดังกล่าวที่ไม่สมดุลอยู่โดยมีภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งได้นำเสนอประสบการณ์การดำเนินงานการตั้งรับกับสังคมสูงวัยในระดับพื้นที่ เช่น การพัฒนาแนวทางในการให้บริการด้านสุขภาพและสังคมแก่ผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ การสร้างความร่วมมือกับบริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุของญี่ปุ่นในการนำไปใช้กับพื้นที่นำร่อง รวมถึงแผนการดำเนินงานในอนาคต

โดยเน้นการขับเคลื่อนร่วมกับท้องถิ่น ผ่านโครงการ Sustainable Local Revitalization เพื่อพัฒนาโมเดลในการยกระดับสุขภาวะให้กับผู้สูงอายุและสนับสนุนการอยู่ร่วมกันของทุกเจเนอเรชั่น  โดยมีแผนจะดำเนินการในปี 2567 – 2570 

สศช.เสนอแผนรับมือผู้สูงอายุ

ในการนี้ สศช.ได้นำเสนอการดำเนินงานที่จะรองรับสังคมสูงวัยในเรื่องการจัดทำข้อมูลงบประมาณด้านสังคม (social budgeting) ของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการติดตามสถานการณ์ทางการคลังของงบประมาณด้านสังคมของประเทศ และช่วยวิเคราะห์ความครอบคลุมและแนวโน้มยั่งยืนทางด้านการคลังของระบบความคุ้มครองทางสังคม อีกทั้ง ยังได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องกรอบแนวคิดและประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจสูงวัย (silver economy) ในบริบทของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ใน 2 มิติสำคัญ ได้แก่ มิติโอกาสภาคการผลิตสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุและโอกาสของตลาดงานใหม่ ๆ และมิติการใช้ศักยภาพผู้สูงอายุในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งในเรื่องการจ้างงานและการรวมกลุ่มในการเป็นผู้ประกอบการ ทั้งนี้ จะมีการหารือในเชิงการพัฒนาเป็นนโยบาย/แนวทางการดำเนินการร่วมกับ JICA ต่อไป