นฤมล เล็งถกคลัง ยื่น อ.ต.ก. เข้าซื้อแร่โปแตส
“นฤมล”เตรียมหารือคลัง-นักกฎหมาย ถึงวิธีซื้อโปแตส-ให้อ.ต.ก.ซื้อกระจาย เป้าหมายลดรายจ่ายเกษตรกร15%ลดนำเข้าปุ๋ยประมาณปีละ 15,000 ล้านบาท
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าซื้อแร่โปแตชเซียมคลอไรด์ ภายหลังจาก บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)ขุดออกมาแล้วเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยเคมี นั้นในเบื้องต้นได้หารือบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ แล้วเกี่ยวกับรูปแบบในการทำงาน และวิธีการซื้อโปแตชเซียมคลอไรด์ และอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง
เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯจะเข้าซื้อตามมติ ครม. ในราคาส่วนลด 10% สัดส่วน 10% ของปริมาณการผลิต โปแตชฯของบริษัท และส่วนลด 7% ในส่วนส่วนที่มากกว่า 10% ของปริมาณการผลิต
นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการใช้หนี้ให้กับรัฐบาล การเพิ่มทุน และสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ที่มีรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ,TRC ถือหุ้นสัดส่วน 25% และที่เหลือถือหุ้นโดยรัฐวิสาหกิจของอาเซียน 4-5 ประเทศ เมื่อต้นปี2566 มีการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม รวมถึงกระทรวงการคลัง วงเงิน 450 ล้านบาท และต้นปี 2567 จะเพิ่มทุนเพิ่มอีก 40,000 ล้านบาท โดยจะเป็นทั้งการกู้สถาบันการเงิน และระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเก่าและผู้ถือหุ้นใหม่ที่สนใจ
“การซื้อปุ๋ยจาก บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิฯจะให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ดำเนินการเพื่อนำกระจายต่อให้กับเกษตรกร ซึ่งบริษัท อาเซียนฯ จะต้องตั้งโรงงานผสมปุ๋ยตามที่กระทรวงเกษตรฯต้องการตามสูตรที่ เกษตรกรแต่ละประเภทใช้ และหลังจากหารือกัน จะดำเนินการร่างวิธีการทำงาน นำหารือกับฝ่ายกฎหมาย ก่อนนำหารือกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป”
นางนฤมล กล่าวว่า ภาคเกษตรไทยใช้ปุ๋ยประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งจากการสำรวจพบ หน่วยงานที่ใช้ปุ๋ยจำนวนมากๆและมีข้อมูลชัดจน คือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)ใช้ปุ๋ยจำนวน 1.2 ล้านตัน เป็นโปแตสฯจำนวน 4 แสนตัน ส่วนหน่วยงานอื่นๆ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมอื่นๆที่มีการใช้ปุ๋ยอีกจำนวนมาก ต้องรวบรวมปริมาณการใช้ปุ๋ยทั้งหมด เพื่อสำรวจความต้องการใช้ปุ๋ยทั้งหมด
อย่างไรก็ตามโครงการเหมืองโปแตสฯ รวมถึงมติครม.ที่กำหนดให้บริษัทต้องขาย โปแตสให้กับกระทรวงเกษตรฯ จะทำให้ภาคเกษตรที่นำเข้าปุ๋ยประมาณปีละ 15,000 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนการนำเข้าและลดต้นทุนในเกษตรกรได้ประมาณ 15% ตามนโยบายลดต้นทุนการผลิต ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และเมื่อต้นทุนการผลิตลดลง ก็จะทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นได้ตามนโยบายเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 3 เท่าตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศไว้