"ควบรวมกิจการ" ไขข้อสงสัย...บทบาทหน้าที่ของ กขค.
หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อใดก็ตาม ที่เกิดการควบรวมกิจการของผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ เหตุใด กขค. จึงมิได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาในทุกกรณี? เพราะการควบรวมกิจการส่วนใหญ่ มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การลดลงของการแข่งขันทางการค้า หรืออาจนำไปสู่การผูกขาดตลาดในอนาคต
คำตอบของคำถามข้างต้นก็คือ เนื่องจากมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560) ระบุไว้ชัดเจนว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ให้ใช้บังคับแก่การกระทำของ
(1) ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(2) รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ดำเนินการตามกฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีสาธารณูปโภค
(3) กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือชุมนุมสหกรณ์ซึ่งมีกฎหมายรับรอง และมีวัตถุประสงค์ดำเนินการทางธุรกิจ เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร และ
(4) ธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า
ดังเช่นตัวอย่างที่หนึ่ง กรณีการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 2 รายใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นกรณีที่สังคมให้ความสนใจและเป็นกังวลใจอย่างมาก เหตุเพราะจำนวนผู้ให้บริการในตลาดจะลดลงจาก 3 เหลือเพียง 2 รายใหญ่หลังการควบรวมกิจการ
ยิ่งกว่านั้นยังกังวลใจต่อเนื่องว่า การแข่งขันทางการค้าน่าจะลดลงในตลาดผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และที่สุดแล้วอาจนำไปสู่การผูกขาดตลาดของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยก็เป็นได้
ดังนั้น หลายฝ่ายจึงเข้าใจว่า กขค. จะต้องเป็นผู้พิจารณาการขออนุญาตควบรวมกิจการในกรณีนี้ แต่หากพิจารณามาตรา 4 (4) แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560 ดังที่กล่าวข้างต้น จะพบว่า
การพิจารณาอนุญาตหรือไม่ต่อการควบรวมกิจการในกรณีนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. อย่างมิอาจปฏิเสธ
ซึ่งสำนักงาน กสทช. เอง ก็มีกฎหมายลำดับรองที่รองรับการพิจารณาการควบรวมกิจการกรณีนี้ อันได้แก่
1. ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
2. ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และ
3. ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549
อย่างไรก็ตามในกรณีดังกล่าวนี้ สำนักงาน กขค. ได้ทำงานร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ในระดับเจ้าหน้าที่ด้วยการประสานและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน แต่ที่สำคัญยิ่งที่สังคมต้องรับทราบข้อเท็จจริงที่ว่า พฤติกรรมทางการค้าใดๆ ที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมกิจการของผู้ประกอบธุรกิจรายนั้นๆ ย่อมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560
หากผู้ประกอบธุรกิจมีพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560 เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจรายนี้เข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งหากกระทำผิด จะต้องได้รับโทษทางอาญา
ตัวอย่างที่สอง เป็นกรณีของการควบรวมกิจการระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงกลั่นน้ำมัน 2 รายใหญ่ในประเทศไทย หลายฝ่ายเข้าใจว่า ผู้มีอำนาจในการพิจารณาการขออนุญาตควบรวมกิจการในกรณีนี้ ควรเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ.
ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560 ที่กล่าวข้างต้น หากแต่ข้อเท็จจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจที่ขออนุญาตควบรวมกิจการในกรณีนี้ มิได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กกพ.
ดังนั้น จึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยแท้ของ กขค. ที่จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ต่อการขออนุญาตควบรวมกิจการ ซึ่ง กขค. ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด และมีมติเป็นเอกฉันท์อนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการได้ โดยมีเงื่อนไขต่างๆ ที่ผู้ขอควบรวมกิจการจำต้องปฏิบัติตามที่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะเป็นที่เรียบร้อย
ซึ่งหลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของสำนักงาน กขค. ที่จะต้องตรวจสอบและติดตามว่า ผู้ขอควบรวมกิจการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กขค. กำหนดได้ถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ รวมไปถึงเฝ้าติดตามมิให้เกิดพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมขึ้น
เจตนารมณ์อันแท้จริงของการบังคับใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ก็เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ซึ่ง กขค. และสำนักงาน กขค. ยึดถึอปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทางการค้าที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบุรกิจทุกรายและทุกระดับ มิใช่เพียงรายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น!