โลกอ่อนไหว ไทยเปลี่ยนทิศ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ในเดือน เม.ย.ปีนี้ อาจถือได้ว่าเป็นเดือนเดือดของเศรษฐกิจการลงทุนก็ว่าได้ เพราะมี 2 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ภาพเศรษฐกิจและการลงทุนโลกและไทยเปลี่ยนแปลงไป
KEY
POINTS
- เม.ย.นี้ มี 2 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ภาพเศรษฐกิจและการลงทุนโลกและไทยเปลี่ยนแปลงไป
- สมมติฐาน 4 Scenario analysis พัฒนาการความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่าน
- รัฐบาลได้ประกาศแหล่งที่มาของเงิน Digital Wallet มาจาก 3 แหล่ง
- *หมายเหตุ... key point สรุปจากกองบรรณาธิการ*
เหตุการณ์แรก ได้แก่ พัฒนาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น โดยในวันที่ 1 เม.ย. อิสราเอลโจมตีสถานทูตอิหร่านในเมืองดามัสกัส ซีเรีย ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารอิหร่านเสียชีวิต ทำให้ในวันที่ 13 เม.ย. อิหร่านโจมตีอิสราเอล โดยการปล่อยโดรนและยิงขีปนาวุธประมาณ 300 ลูกใส่อิสราเอล
แม้ว่าขีปนาวุธของอิหร่านประมาณ 99% จะถูกทำลาย แต่ก็ถือว่าเป็นการยกระดับความรุนแรงระหว่างอิหร่านและอิสราเอลขึ้น เพราะเป็นการโจมตีโดยตรงระหว่างรัฐต่อรัฐเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า จะนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นในระยะเวลาถัดไปหลังการโจมตีวันที่ 13
ผู้เขียนได้มองว่า ในช่วง 1 เดือน อาจเห็นการโจมตีตอบโต้ของอิสราเอลในทำเลที่มั่นหรือสถานทูตของอิหร่านนอกประเทศเพิ่มเติม โดยจุดหมายหลักคือการตอบโต้ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ไม่น่าจะเป็นการโจมตีในอาณาเขตของประเทศอิหร่านจนเกิดความรุนแรงและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ปรากฏว่า ในวันที่ 19 เม.ย. อิสราเอลได้ทำการโจมตีอิหร่าน โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อิสราเอลได้โจมตีด้วยโดรน และไม่มีการโจมตีด้วยขีปนาวุธ
ขณะที่สื่อของอิหร่านรายงานว่า กองทัพอิหร่านสามารถยิงสกัดโดรนทำลายล้างของอิสราเอลได้เป็นผลสำเร็จ แม้จะไม่ทำให้เหตุการณ์รุนแรงขึ้นในระยะสั้น แต่การโจมตีครั้งนี้ยืนยันมุมมองที่ว่า ขณะนี้ ความรุนแรงได้เคลื่อนเข้าสู่สถานการณ์รุนแรงขึ้นแล้ว
ผู้เขียนจึงคาดการณ์พัฒนาการความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่านในสถานการณ์ต่างๆ (Scenario analysis) นั้น ออกได้เป็น 4 สถานการณ์ ดังนี้
1.สถานการณ์ฟ้าใส (Blue sky scenario) สงครามจะลดความรุนแรงลง และจะยุติในไม่ช้า หลังจากการเจรจากหยุดยิงระหว่างอิสราเอล-ฮามาซได้ข้อสรุป ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ปัจจุบันอยู่ที่ 84.2) และเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้ 1.5% ในปีนี้ ขณะที่ดอกเบี้ยสามารถปรับลดได้ 3 ครั้ง (ความน่าจะเป็นประมาณ 20%)
2.สถานการณ์สงครามเงา (Shadow war) สงครามขยายตัวไปสู่การต่อสู้กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน กบฏฮูตีในเยเมน และซีเรีย ทำให้ราคาน้ำมันคงตัวในระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลง เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ลดดอกเบี้ยทั้งปีนี้ (ความน่าจะเป็น 40%)
3.สถานการณ์สงครามตัวแทน (Proxy war) โดยสงครามขยายตัวไปสู่เลบานอนและซีเรีย รวมถึงเกิดการโจมตีทางอากาศในอิหร่านและอิสราเอลและเกิดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้สหรัฐกลับไปคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง ทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐและไทยชะลอลง แต่เงินเฟ้อเพิ่มรุนแรงขึ้น ทำให้ Fed และ ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ยทั้งปีนี้ (ความน่าจะเป็น 30%)
4.สงครามจริงระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน (Full-Blown War) อาจทำให้อิหร่านปิดช่องแคบเฮอร์มุซ ที่เป็นทางเข้าออกอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งไปสู่ระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่ความไม่สงบอาจลุกลามสู่ประเทศตะวันออกกลางอื่น ๆ กระทบกับการผลิตน้ำมัน ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ ไม่ขยายตัวและเศรษฐกิจไทยชะลอลงมากขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นรุนแรงทำให้ Fed และ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงขึ้นในปีนี้ (ความน่าจะเป็น 10%)
โดยสรุป มีความเป็นไปได้สูงขึ้นว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนต์จะเฉลี่ยที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจจะชะลอลง ดอกเบี้ยสหรัฐลงได้ยากขึ้น ท่ามกลางการปรับลดของธนาคารกลางอื่นๆ (ยกเว้นไทย ที่ควรลดดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมเดือน เม.ย. แต่ไม่ได้ลด ทำให้โอกาสในการลดดอกเบี้ยในระยะต่อไปลดลง)
ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ท่ามกลางค่าเงินอื่นๆ ที่อ่อนค่าลง และกระทบกับความเสี่ยงเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น
เหตุการณ์ที่สอง ได้แก่ ความชัดเจนในการดำเนินนโยบาย Digital Wallet ของรัฐบาล โดยในการแถลงของรัฐบาล ณ ต้นเดือน เม.ย. รัฐบาลได้ประกาศแหล่งที่มาของเงิน Digital Wallet มาจาก 3 แหล่ง ได้แก่
1.ขยายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท
2.ดำเนินการผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 172,300 ล้านบาท และ
3.บริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท
ในส่วนแรก คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้ปรับแผนการคลังระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มงบดิจิทัลวอลเล็ต โดยปรับการขาดดุลเพิ่มขึ้น 7.13 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะต้องมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
ประเด็นที่ต้องจับตาคือ การปรับแผนการคลังเพื่อเพิ่มงบดิจิทัลวอลเล็ตครั้งนี้ อาจมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 6, 7, 9 และ 49 หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีคำตอบในประเด็นดังกล่าว
ในส่วนที่สอง การดำเนินการผ่าน ธ.ก.ส.นั้น อาจมีประเด็นที่ว่าเป็นการกระทำตรงตามวัตถุประสงค์มาตรา 9 หรือไม่ โดยเฉพาะในวงเล็บ (3) ที่ว่า เงินที่ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร จะต้องทำเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิต
รวมถึงในประเด็นที่ว่า ธปท.ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแล จะอนุญาตให้ใช้เงินของ ธ.ก.ส. ในการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่
ในส่วนสุดท้าย ที่ภาครัฐจะใช้การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท ตามการคำนวณของผู้เขียน พบว่าในปีงบประมาณปัจจุบันการเบิกจ่ายรัฐน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 1.2 แสนล้านบาท
ถ้ารัฐต้องการใช้เงิน 1.75 แสนล้านบาท แปลว่าการเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาสที่ 3 ปีปฏิทินนี้ อาจไม่เร่งตัวมากนัก เพื่อกันเงินทำดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะกระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ด้วยราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาระของกองทุนน้ำมันมีมากขึ้น ผลักดันให้ราคาน้ำมันในประเทศจึงอาจปรับเพิ่มขึ้นบ้าง กระทบต่อเศรษฐกิจและการบริโภค พร้อมกับนโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และไม่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ รวมถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนที่อาจต่ำกว่าคาด เพราะภาครัฐกันเงินไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ทำให้ผู้เขียนมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ค่อนข้างต่ำ ขณะที่มองว่าดิจิทัลวอลเล็ต หากทำได้ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นทั้งในปีนี้และปีหน้า แต่ยังไม่อยู่ในสมมติฐานหลัก
ด้วยปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีมากขึ้น นักธุรกิจ นักลงทุน และประชาชน โปรดระวัง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่