สงครามราคารอบใหม่ ‘EV - รถสันดาป’ อัดส่วนลดหลักแสน
'รถอีวี - สันดาป’ สู้ศึกราคารอบใหม่ สมาคมอีวี ชี้ หั่นราคาบริหารสต็อกรักษากำลังการผลิต เตรียมผลิตรถรุ่นใหม่ปี 67 - 68 ตามเงื่อนไขรัฐ “บีวายดี” ได้เปรียบต้นทุนแบตต่ำลดราคาได้เยอะ ส.อ.ท.ยืนยันไม่ใช่สงครามราคา ระบุ คอยรถลดราคาเพื่อรักษากำลังการผลิต รักษาต้นทุนต่อหน่วย
หลังจากปลายปี 2566 มีการแข่งขันลดราคารถโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในระดับคันละ 100,000 บาท ซึ่งทำให้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในบางรุ่นลดราคาตาม ล่าสุดบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้จําหน่ายรถ BYD ลดราคารุ่น BYD Dolphin 2024 สูงสุด 160,099 บาท ถึง 30 มิ.ย.2567
สถานการณ์ปัจจุบันค่ายรถญี่ปุ่นบางแห่งจัดโปรโมชันในช่วงเดือนมิ.ย.2567 เช่น แคมเปญ MAZDA M DAY ให้ส่วนลดสูงสุด 130,000 บาท ขณะที่ดีลเลอร์รถสันดาปบางแห่งของค่ายรถญี่ปุ่นประกาศลดราคารถบางรุ่น เช่น Nissan Kicks ให้ส่วนลด 100,000-120,000 บาท , MazdaCX-30 ให้ส่วนลด 140,000 บาท
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า การปรับลดราคารถเครื่องยนต์สันดาป และรถยนต์ไฟฟ้ามี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณา ประกอบด้วย
1.กรณี BYD ลดราคารถยนต์ไฟฟ้าได้ เพราะต้นทุนผู้ผลิตแต่ละรายไม่เท่ากัน โดย BYD มีฐานการผลิตแบตเตอรี่จึงทำให้มีความได้เปรียบเชิงต้นทุน
2.เป็นการบริหารสต็อกให้เหมาะสมกับปริมาณการผลิต และยอดขายที่ผ่านมา โดยการแข่งขันด้านราคาเป็นผลมาจากการมีสต็อกสินค้าเกินความต้องการของตลาด เพราะหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายมีการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น แต่เมื่อตลาดรถเข้าสู่ภาวะถดถอยทำให้มีสต็อกเพิ่มจึงต้องเร่งระบายสต็อก แต่เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานเพราะเมื่อสต็อกเข้าสู่ภาวะสมดุลจะทำให้การแข่งขันด้านราคาลดลง
ทั้งนี้ การบริหารการผลิตรถต้องวางแผนให้สอดคล้องกับตลาด โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้งานอีวีระยะเร่งด่วน และมาตรการส่งเสริมการลงทุน (อีวี 3.0) ที่จะเริ่มผลิตคืนตามโควตาการนำเข้ามาทำตลาดภายในปี 2567-2568 ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการ 7 ราย มีกำลังการผลิตรวมปีละ 400,000 คัน ซึ่งหากทุกรายผลิตเต็มที่จะส่งผลต่อสต็อกจึงต้องวางแผนงานให้ดี
ทั้งนี้ การลดราคาของค่ายรถต้องดูให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด เพราะการปรับลดลงต่อเนื่องอาจกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยจะทำให้ยิ่งลดราคา ทำให้การตัดสินใจซื้อชะลอเพื่อรอราคาใหม่ และอาจไม่ได้ทำให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
“การลดราคาของค่ายรถคงไม่ใช่ภาพที่ทุกแบรนด์อยากให้เป็น และไม่มีใครทำราคาแล้วลดลงเรื่อยๆ เพราะจะกระทบตลาดรถทั้งระบบรวมถึงรถมือ 2 และสุดท้ายจะกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อรถ เพราะลูกค้าไม่รู้ว่าตกลงแล้วจะซื้อรถช่วงไหนดี และสุดท้ายจะรอตัดสินใจเพราะกลัวราคารถจะลดลงอีก” นายกฤษฎา กล่าว
สถานการณ์ปัจจุบันของตลาดอีวี แม้จะยังเติบโต แต่ก็มีทิศทางที่ชะลอตัวเช่นกัน และมีภาวะการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาด อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจไม่ดีนัก
ชี้ลดราคารถรักษากำลังการผลิต
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ยังไม่มองเป็น “สงครามราคา” เพราะรถออกใหม่มีซีซีต่ำลงทำให้ราคาลดลงขึ้นกับรถแต่ละรุ่นรถที่พัฒนา และขึ้นกับความนิยมของผู้ใช้รถ เช่น รถไฮบริดตอบโจทย์ประหยัดน้ำมันช่วงราคาน้ำมันสูง อีกทั้งปล่อยไอเสียลดลงจึงตอบโจทย์กรีนคาร์บอน
“รถสันดาป และรถอีวีที่ราคาลดลงเป็นการทำตลาดบางช่วงไม่ได้ลดราคาตลอด เป็นแคมเปญที่สร้างขึ้นเพราะตลาดรถแข่งขันรุนแรงมาตั้งแต่อดีตก่อนมีรถอีวี เพราะหลายยี่ห้อต้องการเพิ่มยอดการขายเพื่อให้มียอดผลิตสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนต่อคันลดลง หรือ Economic of scale" นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับเป้าหมายการผลิตรถปี 2567 ที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.จะดูสถานการณ์จะพิจารณาเป้าหมายใหม่ในวันที่ 25 มิ.ย.2567 เพื่อประเมินสถานการณ์ 6 เดือนแรกของปีนี้ รวมทั้งจะพิจารณาว่ารัฐบาลมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งแม้งบประมาณประจำปี 2567 จะออกมา แต่จะต้องรอดูงบประมาณประจำปี 2568 ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาว่าจะเป็นอย่างไร
แบงก์ชาติถกค่ายรถแลกเปลี่ยนมุมมอง
นางสาวอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วันที่ 17 มิ.ย.2567 ธปท.เชิญผู้ประกอบการและสมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมหารือแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกัน
ทั้งนี้การหารือดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อภาวะ และแนวโน้มธุรกิจเท่านั้น ไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องกฎเกณฑ์ หรือเกณฑ์กำกับควบคุมหรือดูแลธุรกิจยานยนต์แต่อย่างใด รวมถึงมีการอัปเดตสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ในด้านต่างๆ
รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองภาวะ และแนวโน้มธุรกิจแล้ว และได้หารือถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของธุรกิจ อุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้น และการปรับตัวเพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจในระยะข้างหน้า
“การหารือนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการ ของแบงก์ชาติ ที่ทำมาต่อเนื่องกับหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยในการประเมินภาพเศรษฐกิจเพื่อการทำนโยบาย และมาตรการของแบงก์ชาติต่อไป” นางสาวอลิศรา กล่าว
รายงานข่าวระบุว่า หากดูสถานการณ์สินเชื่อรถยนต์ในปัจจุบัน ถือว่าน่าห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะข้อมูลหนี้เสียและหนี้ค้างชำระสินเชื่อรถยนต์ทั้งระบบ โดยข้อมูลบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) พบว่า ครัวเรือนไทยทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท ในนี้มีสินเชื่อรถยนต์ ที่เป็นหนี้เสียแล้ว 2.38 แสนล้านบาท เติบโต 32%
ทั้งนี้หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และมีหนี้ค้างชำระหรือ (SM) ที่ค้างชำระหนี้ไม่เกิน 90 วัน อีก 2 แสนล้านบาท และมีหนี้รถยนต์ที่กำลังปรับโครงสร้างอีก 3.9 หมื่นล้านบาท
รวมทั้งหากดูรายละเอียดพบว่า กลุ่มที่เป็นหนี้เสีย และค้างชำระทั้งหมดส่วนใหญ่มาจาก GenY ที่มีหนี้เสียรถยนต์แล้ว 4.15 แสนสัญญา หรือบัญชี ซึ่งคิดเป็นยอดวงเงินรวม 1.28 แสนล้านบาท และกำลังเป็นหนี้เสีย (SM) อีก 2.98 แสนสัญญา หรือ 1.14 แสนล้านบาท ซึ่งหากรวมทั้ง 2 กลุ่ม พบว่ามีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย และค้างชำระแล้ว 7.13 แสนบัญชี ซึ่งคิดเป็นยอดสินเชื่อ 2.4 แสนล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์