“เงินเฟ้อต่ำ” นโยบายการเงินไทย "ตึงตัว" มากเกินไป

“เงินเฟ้อต่ำ” นโยบายการเงินไทย "ตึงตัว" มากเกินไป

เงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.ลดลงมาอยู่ที่ 0.62% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (ตลาดคาดการณ์ที่ 1.1%) และต่ำกว่าเป้าเงินเฟ้อที่ 1-3% เป็นไปได้ว่า เงินเฟ้อของไทยในปีนี้โดยรวมจะประมาณ 0.5% เท่านั้น

ทั้งๆ ที่เป้าเงินเฟ้อนั้นควรจะเฉลี่ย 2% ต่อปี (จุดกลางของ 1-3%) ในช่วงปี 2010-2020 เงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยเพียง 1.37% ต่ำกว่าที่สหรัฐซึ่งเฉลี่ย 1.72% 

คนที่ติดตามเศรษฐกิจสหรัฐจะรู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐกังวลมากว่าเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้เอาไว้คือ 2% ต่อปี จึงเป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐกดดอกเบี้ยนโยบายลงไปเหลือ 0% และยังพิมพ์เงินใหม่ออกมา 9 ล้านล้านดอลลาร์ (คิวอี) เพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้เอกชนที่ค้ำประกันโดยอสังหาริมทรัพย์ 

เพราะต้องการกระตุ้นให้เงินเฟ้อขึ้นถึงเป้า ธนาคารกลางอื่นๆ เช่น ธนาคารกลางสหภาพยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็ทำแบบเดียวกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

ทำไมเงินเฟ้อต่ำเกินไปจึงไม่ใช่สิ่งที่ดี? คำตอบคือ ปกติจะมีสินค้าใหม่บางประเภทที่ความต้องการมีสูงมาก หรือเกิดการขาดแคลนสินค้าบางชนิด ทำให้ราคาถีบตัวขึ้นสูงมาก

ดังนั้น หากโดยรวมเงินเฟ้อใกล้ศูนย์ ก็ต้องแปลว่า ราคาสินค้าส่วนใหญ่จะต้องปรับตัวลดลง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการประสบกับปัญหามากมายเพราะยอดขายลดลง แต่ดอกเบี้ย เงินเดือนลูกจ้างและค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย 

ดังนั้น ธนาคารกลางจึงกำหนดเป้าเงินเฟ้อให้สูงกว่า 0% อย่างมีนัยสำคัญ (สมัยก่อนที่จีดีพีไทยขยายตัวปีละ 5% เงินเฟ้อเฉลี่ย 5% ต่อปี แปลว่า โดยเฉลี่ยยอดขายในไทยจะเพิ่มขึ้นปีละ 10%)

บางคนอาจค้านว่า ดัชนีวัดเงินเฟ้อของไทยไม่แม่นยำ เพราะรู้สึกว่าสินค้าราคาแพงขึ้น สูงเกินกว่ารายได้ (ปัญหาคือรายได้ต่ำ ไม่ใช่ปัญหาเงินเฟ้อ) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกในทางตรงกันข้ามว่า เงินเฟ้อต่ำเกินจริง เพราะรัฐบาลช่วยอุดหนุนลดราคาพลังงาน (ไฟฟ้าและน้ำมันดีเซล) 

ซึ่งตรงนี้ อาจวัดเงินเฟ้อโดยดูจากเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหารก็ได้ หากใช้ข้อมูลเงินเฟ้อพื้นฐานแทนก็จะยิ่งต่ำกว่าเงินเฟ้อมาก เช่น เดือน มิ.ย.เงินเฟ้อพื้นฐานนั้นอยู่ที่ 0.36% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า

“เงินเฟ้อต่ำ” เป็นผลมาจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากเกินไป โดยกลไกของนโยบายการเงินสามารถอธิบายได้ดังนี้คือ ธปท.ตั้งเป้าดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยกู้ยืมข้ามคืนของธนาคารพาณิชย์) ที่ 2.5% ต่อปี

แปลว่า ธปท.จะต้องลดปริมาณเงินในระบบให้ “ขาดแคลน” เงินมากเพียงพอ ที่จะทำให้ธนาคารที่ขาดสภาพคล่องข้ามคืนต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยเท่ากับ 2.5% ต่อปีเพื่อกู้เงิน เมื่อดอกเบี้ยค้างคืนถูกกำหนดเป็นพื้นฐานแล้ว ดอกเบี้ยกู้เงินระยะเวลาที่ยาวกว่านั้น ก็จะถูกกำหนดตามกลไกตลาดต่อไป

แต่ ธปท. ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินและมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในประเทศไทย ยืนยันว่า นโยบายการเงินและดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เหมาะสมแล้ว 

ทำไมผมจึงเถียงว่า การเงินตึงตัวเกินไปและเป็นแรงต้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ? คำตอบขั้นแรกคือ เมื่อเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายมาก (จาก 2% เหลือไม่ถึง 1%) แปลว่าดอกเบี้ยจริงสูงมาก กล่าวคือ ในกรณีนี้ดอกเบี้ยนโยบายจริง (หักเงินเฟ้อ) สูงถึงประมาณ 2%

ในขณะที่ในช่วง 5 ปีก่อนโควิด (2015-2019) เงินเฟ้อเฉลี่ยเพียง 0.34% ต่อปี (หลุดกรอบเงินเฟ้อไปไกลมาก) ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยอยู่ที่ 1.65% ในช่วงเดียวกัน แปลว่าที่ดอกเบี้ยจริงคือ 1.31% (1.65 - 0.34) เนื่องจากเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าอย่างมาก จึงสรุปได้ว่า ดอกเบี้ยนโยบายจริงที่ 1.31% นั้น ก็สูงเกินไปแล้ว ดังนั้น ดอกเบี้ยนโยบายจริงวันนี้ ที่เกือบ 2% จึงสูงเกินไปอย่างมากมาย

ดอกเบี้ยนโยบายที่สูงเกินไป และสภาวะทางการเงินที่ตึงตัวเกินไป มีข้อเสียอะไรบ้าง นอกจากจะทำให้เงินเฟ้อหลุดกรอบที่กำหนดเอาไว้? คำตอบคือ จะทำให้ตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็กเกินควร ผลที่ตามมาคือ ต้องขายสินค้าและบริการไปในตลาดโลก ทำให้เกิดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นมูลค่ามหาศาล (ดูตารางคอลัมน์ 2)

“เงินเฟ้อต่ำ” นโยบายการเงินไทย \"ตึงตัว\" มากเกินไป

จะเห็นได้ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 2015-2019 คิดเป็นมูลค่ารวมมากถึง 181,880 ล้านดอลลาร์ (กว่า 6 ล้านล้านบาท) แต่การเกินดุล คือมีรายได้เป็นดอลลาร์มากๆ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่หรือ? คำตอบคือ ไม่จริงเสมอไป เพราะนักเศรษฐศาสตร์จะรู้ว่า การเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น

อีกด้านหนึ่งของเหรียญคือ การที่ประเทศ มีเงินออมมากกว่าการลงทุนในประเทศ ทำให้คน(รวย)ไทย ต้องขนเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ

เห็นได้จากการไหลออกสุทธิของเงินทุน (คอลัมน์ 3) คิดเป็นมูลค่ารวมเท่ากับ 75,230 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท) เงินนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมให้ลงทุนในประเทศ เพื่อสร้างงานและมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศไทย แต่กลับกลายเป็นเงินทุน ที่ไปเพิ่มความมั่งคั่งให้กับต่างประเทศ​

จะเห็นได้ว่า ยังมีส่วนต่างระหว่าง 2 ตัวเลขดังกล่าวอีก ส่วนเกินนี้คือ การเกินดุลชำระเงิน (คอลัมน์ 4) ส่วนนี้เกิดขึ้นเมื่อยังมีเงินดอลลาร์ส่วนเกินที่ต้องการมาแลกเป็นเงินบาท โดยธปท.ต้องเพิ่มปริมาณเงินบาทมาให้แลก 

เห็นได้จากทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นประมาณ 90,890 ล้านดอลลาร์ ประเด็นคือ การต้องเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบทุกๆ ปี เพื่อตอบสนองความต้องการเงินบาทที่มีมากกว่าอุปทาน เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่บอกว่า นโยบายการเงินตึงตัวมากเกินไป

เหตุที่ต้องกล่าวถึงอดีตอย่างยืดเยื้อก็เพราะว่า ปี 2023 และไตรมาส 1 ของปีนี้ เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับไปสู่สภาวะเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2015-2019 อีกแล้วครับ.