'ไฮสปีดไทย - จีน' ช้ากว่าแผน 36% ปรับแบบก่อสร้างงบงอกอีก 2 พันล้าน
การรถไฟฯ เผยคืบหน้าไฮสปีดไทย – จีน ล่าช้ากว่าแผน 36% ยันเร่งรัดเปิดบริการทันปี 2671 ล่าสุดเสนอบอร์ดเพิ่มวงเงินก่อสร้างสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด - นครราชสีมา กว่า 2 พันล้านบาท ส่วน 2 สัญญายังติดหล่ม ช่วงสถานีอยุธยา - พื้นที่ทับซ้อนไฮสปีด 3 สนามบิน จับตา กพอ.ถกแก้สัญญา ส.ค.นี้
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการ รถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน โดยระบุว่า ขณะนี้งานก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 179,412 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 14 สัญญา ภาพรวมของโครงการ ณ วันที่ 25 ก.ค.2567 คืบหน้าอยู่ที่ 71.36% ผลงาน 34.97% ล่าช้า 36.39% ตามแผนคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571
อย่างไรก็ดี การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 ที่ผ่านมา ได้รับทราบหลักการปรับกรอบวงเงินค่าจ้างของสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา เพิ่มเติมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,052 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เนื่องจากมีการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงงานจากรูปแบบการก่อสร้างคันทางระดับดินเป็นรูปแบบทางยกระดับ (elevated) ระยะทาง 7.85 กิโลเมตร ตามแนวทางที่ 4 ช่วงโคกกรวด-ภูเขาลาด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ที่ต้องการให้ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ
งบงอกยังอยู่ในกรอบการใช้เงิน
โดยวงเงินที่ปรับเพิ่มนั้นยังอยู่ภายในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เนื่องจากกรอบวงเงินดำเนินโครงการรถไฟไทย - จีน ปัจจุบันยังคงเหลือ 10,863 ล้านบาท ทั้งนี้ การเสนอขอปรับกรอบวงเงินก่อสร้างดังกล่าว บอร์ด รฟท.มีความเห็นให้ฝ่ายโครงการพิเศษ และก่อสร้างดำเนินการปรับราคาดัชนีกลางในปัจจุบันให้สอดรับกับแผนการปรับกรอบวงเงินในครั้งนี้ ก่อนนำกลับมาเสนออีกครั้งภายในเดือนก.ย. 2567 ก่อนเสนอกระทรวง และ ครม.เห็นชอบ
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าของโครงการรถไฟไทย - จีน ส่วนของสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร วงเงิน 9,913 ล้านบาท ที่ก่อนหน้านี้ติดปัญหาความเห็นผลกระทบแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ปัจจุบัน รฟท.ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟอยุธยาฉบับปรับปรุงเพิ่มเติมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 9 ส.ค.67 ที่ผ่านมา
คาดส.ค.ลงนามแก้สัญญาพื้นที่ทับซ้อน
ขณะที่ 1 สัญญา คือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร วงเงิน 9,207 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอลงนามสัญญา โดยเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินรับเงื่อนไขในการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนส่วนนี้ให้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาเห็นชอบแก้ไขสัญญา คาดว่าจะมีการพิจารณาในเดือนส.ค.นี้ และลงนามสัญญาต่อไป
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมรถไฟไทย - จีน ปัจจุบันจึงมี 2 สัญญา ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ประกอบด้วย สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร วงเงิน 362 ล้านบาท และสัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร วงเงิน 3,114 ล้านบาท และมีสัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 9 สัญญา
โดยประกอบด้วย สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร วงเงิน 9,348 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า ITD ผลงาน 0.52% ,สัญญา 3-2 ช่วงอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร วงเงิน 4,279 ล้านบาท โดย บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ ผลงาน 74.06%
ผลงานก่อสร้างยังล่าช้ากว่าแผน
สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.60 กิโลเมตร วงเงิน 9,838 ล้านบาท โดย บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์ และอุตสาหกรรม ผลงาน 52.73%, สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กิโลเมตร วงเงิน 9,848 ล้านบาท โดยบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผลงาน 77.82%
สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร วงเงิน 10,570 ล้านบาท โดย บมจ.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ผลงาน 0.66% ,สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กิโลเมตร วงเงิน 11,525 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า CAN (บจ.เอ.เอส แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด ผลงาน 37.50%
สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร วงเงิน 6,573 ล้านบาท โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผลงาน 16.57%, สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กิโลเมตร วงเงิน 9,429 ล้านบาท โดย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ผลงาน 5.23% ,สัญญา 4-7 สระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กิโลเมตร วงเงิน 8,560 ล้านบาท โดย บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง ผลงาน 56.67% และสัญญา 2.3 งานออกแบบจัดหา และติดตั้งระบบรางฯ ผลงาน 0.92%
โปรเจกต์ยักษ์เชื่อมไทยกับภูมิภาค
รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน เป็นการพัฒนาระบบรางไทย เชื่อมโยงเครือข่ายสู่สากล โดยโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน เป็นเส้นทางที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา Belt and Road Initiative (BRI) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2560 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ซึ่งเป็นการร่วมพัฒนาระหว่างประเทศในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยฝ่ายไทยรับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา และใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างและระบบรถไฟของจีน ซึ่งได้ทำพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2560 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ ใช้งบประมาณ179,412.21 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์