“The night-time economy”เศรษฐกิจไม่ตกดิน ท้าข้อจำกัดเวลา"ทำมาหากิน24ชม."

“The night-time economy”เศรษฐกิจไม่ตกดิน ท้าข้อจำกัดเวลา"ทำมาหากิน24ชม."

เมื่อเร็วๆนี้ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน Dinner Talk : Vision for Thailand 2024 จัดโดยเครือเนชั่น สาระส่วนหนึ่งเล่าถึงนโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ก่อนหน้านี้ถูกคัดค้านแต่ปัจจุบันพบว่ามีคนเชียร์มาก

โดยพื้นที่ที่เป็นคาสิโนมีไม่ถึง 10% ซึ่งถือว่าน้อยมากแต่มีสัดส่วนของพื้นที่อื่นๆ เช่นสวนสนุก และโรงแรม แต่ละแห่งต้องลงทุนเป็นแสนล้านบาท

“เราจะถือโอกาสเติมในสิ่งที่เราขาด เราต้องทำที่ที่เตรียมพร้อม สิ่งไหนที่เราขาดเราจะให้คนมาลงทุนเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

แนวความคิดดังกล่าวแม้จะไม่เหมือนเสียทีเดียวแต่ก็สอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ทลายข้อจำกัดเรื่องเวลาที่เรียกว่า “The night-time economy” เท่ากับว่าเพิ่มเวลาทำมาหากินเป็นเท่าตัว ซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนกลับคืนมาเป็นเท่าตัวด้วยเช่นกัน 

แต่ทุกสิ่งที่ได้มาย่อมมีค่าใช่จ่าย ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนที่เป็นมูลค่าทางการเงิน ด้านสังคมทั้งต่อประชาชนในเมืองและแรงงานสนับสนุนThe night-time economy นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสุขอนามัย และความปลอดภัยในเมือง เป็นต้น

สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum : WEF ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “Rethinking 24-hour cities: night-time strategies to address urban challenges and thrive” หรือการคิดใหม่เกี่ยวกับเมืองที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง: กลยุทธ์ยามวิกาลเพื่อความท้าทายและการเติบโตของเมือง

รายงานระบุว่า เศรษฐกิจกลางคืนสร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับเมือง รวมถึงสร้างงานหลายล้านตำแหน่ง ให้กับมหานครนิวยอร์ก คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจกลางคืนสูงถึง 35,100 ล้านดอลลาร์ต่อปี มีการจ้างงานถึง 300,000 ตำแหน่ง ในขณะที่มหานครลอนดอน เศรษฐกิจกลางคืนมีมูลค่าถึง 26,000 ล้านปอนด์ มีการจ้างงานมากกว่าล้านตำแหน่ง

ความหลากหลายของประสบการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเมืองใหญ่และย่านการค้า ที่ยังมองข้ามศักยภาพเศรษฐกิจกลางคืน แต่ในทางตรงกันข้ามหากเมืองมีความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจกลางคืน โดยดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ออกมาใช้ ผ่านแนวความคิดและวิธีการใหม่ๆ การปรับปรุงบริการให้สอดคล้องกับกิจกรรมในทุกช่วงเวลาของวัน ก็จะพบว่าเมืองที่มีความพร้อมเหล่านี้ จะสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

“แม้แต่เรื่องของสภาพอากาศ ก็ทำให้การใช้ชีวิตในเมืองได้รับผลกระทบ จึงได้เห็นการปรับตัวเพื่อรักษาหรือเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คงความน่าอยู่ และชีวิตชีวาของเมืองไว้ ซึ่งมีการใช้Gehl's methods และเครื่องมือด้านดิจิทัลเพื่อศึกษาว่าประสบการณ์การใช้ชีวิตของคนกลางคืนนั้นช่างแตกต่างจากช่วงเวลากลางวันอย่างมีนัยสำคัญ”

ข้อมูลจากรายงานได้ยกตัวอย่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนจัด จึงสามารถพบเห็นครอบครัวชาวซาอุฯ ออกไปปิกนิกในสวนสาธารณะหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน แม้จะเป็นแนวทางปฎิบัติทั่วไปไม่ได้เป็นระเบียบทางการ แต่วิถีนี้ก็เป็นที่มาของนโยบายใหม่และแนวทางการออกแบบที่จะช่วยให้กิจกรรมเหล่านี้ดำเนินต่อไปได้และสามารถขยายตัวได้อีกด้วย

ไม่เพียงที่ซาอุดีอาระเบียเท่านั้น แม้แต่ในสหรัฐ ไปจนถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) ต่างก็มีสวนสาธารณะ ชายหาดและพื้นที่สาธารณะต่างๆที่เปิดให้บริการในเวลากลางคืน มีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวเมืองที่ปรับวิถีกิจวัตรประจำวัน หรือแม้แต่ชั่วโมงทำงาน และรูปแบบการจับจ่ายใช้สอยเพื่อรับมือกับผลประโยชน์ในช่วงกลางคืน

แนวคิดของเมือง 24 ชั่วโมงนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงทศวรรษ 1980 เมอร์เรย์ เมลบิน นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ได้เปรียบเทียบระหว่างเมืองที่มีความขาดแคลนด้านพื้นที่กับเมืองที่มีข้อจำกัดด้านเวลา

โดยใช้แนวทางการเปลี่ยนเวลาให้กลายเป็น “พรมแดนใหม่” มาเป็นแนวทางการขยายเมือง พบว่าใช้เวลาไม่กี่ปี “เมือง 24 ชั่วโมง” ก็ปรากฏขึ้นเกือบพร้อมกันในส่วนต่างๆ ของโลก โดยรูปแบบการพัฒนาหลักๆคือการปรับปรุงความปลอดภัยในเวลากลางคืนย่านกลางเมืองซึ่งเป็นตัวเร่งสำคัญของการพัฒนา

นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาเมือง 24 ชั่วโมงในช่วง 30 ปีต่อมาพบว่า มีการขยายความแนวความคิดดังกล่าวมากขึ้น โดยนำเรื่องของ “เวลา” มาเป็นหนึ่งในทรัพยากรการพัฒนาเมืองเชิงกลยุทธ์ หรือ การออกแบบเมืองให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจกลางคืน ทั้งนี้การออกแบบเชิงกลยุทธ์ดังกล่าวครอบคลุมทั้ง กิจกรรมการผลิต สังคม และวัฒนธรรมที่หลากหลายซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ หกโมงเย็นถึงหกโมงเช้า รวมถึงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับช่วงที่เหลือของวันด้วย

“ไม่ว่าจะเหตุผลเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ การปรับตัวต่อสภาพอากาศแล้ว เรื่องของการเปิดใช้งานสินทรัพย์และบริการของเมืองตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน นั้นยังทำให้เมืองมีความปลอดภัยและครอบคลุมมากขึ้น การมีพื้นที่สาธารณะ ระบบขนส่งสาธารณะ และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ตลอดเวลาทำให้เมืองเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับคนงานกะกลางคืน รวมถึงบริการฉุกเฉิน การบริการต้อนรับ การค้าปลีก บริการอาหาร และคนงานในโรงงาน คลังสินค้า และสถานที่ผลิต”

มาถึงตรงนี้อาจฟังดูเหมือนว่า The night-time economy น่าจะเป็นทางออกเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะชะลอตัวในช่วงนี้ แต่มีคำถามว่า ใครควรเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวนี้ ทั้งที่ปัจจุบันเมืองต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 60 เมืองได้แต่งตั้ง “นายกเทศมนตรีกลางคืน” หรือจัดตั้งแผนกที่รับผิดชอบในการจัดการระบบนิเวศกลางคืนของเมืองและเสนอโซลูชันที่สร้างสรรค์เพื่อปรับปรุงเมืองให้รองรับอีกช่วงเวลาที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งของวัน

“คนทำงานด้านการพัฒนาเมืองต่างเผชิญกับความท้าทายมากมาย ตั้งแต่การขาดตัวเลือกในการเดินทางสำหรับผู้ที่ทำงานในเวลากลางคืน ไปจนถึงปัญหาว่าด้วยการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและครอบคลุม หรือแม้กระทั่งการไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ที่ต้องการปาร์ตี้กับผู้ที่ต้องการนอนหลับ”

ทั้งนี้ เมื่อปี 2022 โครงการ City Possible Network ของ Mastercard ได้เปิดตัว 24-Hour Cities Networkซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์ของเมือง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักรณรงค์ และพันธมิตรภาคเอกชน ได้คัดเลือก 2 เมืองสำคัญมาร่วมทำกิจกรรม ได้แก่ เมืองโบโกต้าและนิวยอร์ก โดยได้มีการทำเวิร์กช้อป ภายใต้ 4 หัวข้อ ได้แก่ การปกครองในเวลากลางคืน ความปลอดภัยและการมีส่วนร่วม การเดินทางในเวลากลางคืน และการพัฒนาเศรษฐกิจ และได้แบ่งปันแนวทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์เพื่อจัดการพื้นที่ในเมืองหลังจากมืดค่ำ

ยกตัวอย่างผลการหารือ เช่น เมืองออร์แลนโดได้การทำงานร่วมกับบริษัทให้บริการเรียกรถอย่าง Uber และ Lyft และสร้างศูนย์กลางชีวิตกลางคืนเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยและลดความแออัดของการจราจรระหว่างเที่ยงคืนถึงตี 3 ซึ่งเป็นเวลาปิดทำการของบาร์และคลับทั้งหมด โดยทำการปรับเปลี่ยนช่องทางเดินรถบัสให้เป็นพื้นที่รับส่งที่มีรั้วกั้น และจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะ รถขายอาหาร ดนตรี และที่นั่งเพื่อให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยขณะเดินทางกลับบ้าน

ขณะที่กรุงลอนดอนกำลังดำเนินการหาแนวทางแก้ไขเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ที่ทำงานกะดึก ขณะเดียวกันเมืองกำลังสร้างศูนย์ทำงานกลางคืน ซึ่งเป็นสถานที่ทางกายภาพสำหรับพนักงานที่ทำงานกะกลางคืนเพื่อให้ได้เข้าใช้บริการ ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย พักผ่อน และการเติมพลังงานให้ชีวิตได้ด้วย สำหรับกรุงลอนดอนมีประชากร 1.6 ล้านคน และจำนวนหนึ่งในสามของแรงงานทั้งหมด ทำงานในช่วงเย็นหรือกลางคืน ซึ่งมีความต้องการพื้นที่ที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย และมีกิจกรรมที่เปิดกว้าง

รายงานระบุอีกว่า “Mastercard Economics Institute” ได้ทำการวิเคราะห์รูปแบบการใช้จ่ายทั่วทั้งนิวยอร์กซิตี้ และสังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายในร้านอาหารและบาร์ พบว่า ย่านการเงินมีการใช้จ่ายในตอนกลางคืนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถึง135% โดยเฉพาะในวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ตั้งแต่ปี 2019

อย่างไรกก็ตาม The night-time economy ก็ไม่ใช่ว่าจะราบรื่นแบบไม่ต้องเผชิญกับ การดิสรัปชั่นเลยเพราะเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา นายกเทศมนตรีที่ทำงานตอนกลางคืนคนใหม่ได้เข้าร่วมประชุมนี้ด้วย พร้อมระบุว่า ความต้องการพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานกำลังถูกท้าทายจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลและการทำงานจากระยะไกลได้เปลี่ยนรูปแบบการเดินทางอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กและบริการจำนวนมากในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง

ดังนั้นในปี 2024 The World Economic Forum Centre for Urban Transformation ร่วมกับ Mastercardได้ทำงานเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆที่กำลังเกิดขั้น เพื่อให้การจัดเมืองสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆและแบ่งปันแนวทางปฎิบัติเชิงสร้างสรรค์ร่วมกัน

“WEF จะช่วยให้เมืองและธุรกิจต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเศรษฐกิจตอนกลางคืนได้ ซึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ชุมชนต่างตั้งเป้าที่จะรวบรวมความพยายามทั้งหมดและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในการกำหนดอนาคตของเศรษฐกิจกลางคืนในเมือง”

ในโลกยุคใหม่ซึ่งดำเนินไปตลอด 24 ชั่วโมง ชีวิตในเมืองจะไม่หยุดนิ่งเมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้วเท่านั้นแต่ เมืองที่มีความยืดหยุ่น เสมอภาค และเจริญรุ่งเรืองต้องทำงานเพื่อทุกคนในทุกๆชั่วโมงด้วย

ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ระบุว่า  Night-time Economy หรือ 24-hour Economy คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงเย็นเรื่อยไปจนถึงเช้าของอีกวัน ครอบคลุมภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งธุรกิจบันเทิง ร้านอาหาร กิจกรรมทางวัฒนธรรม การช้อปปิ้ง และบริการ เศรษฐกิจตอนกลางคืนมีความสำคัญสำหรับเขตเมือง เนื่องจากมีส่วนทำให้เมืองมีชีวิตชีวา สนับสนุนการจ้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

รายงานNTIA: Night-time Economy Reportระบุว่าในปี 2022 เศรษฐกิจยามราตรีในสหราชอาณาจักรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มรวม (Gross Value Added: GVA) ถึง 2 ล้านล้านบาท จากผู้ประกอบการแห่งรัตติกาลกว่า 149,000 ราย มีการจ้างงานราว 452,000 ตำแหน่ง  

หันกลับมามองเศรษฐกิจกลางคืนของไทย ข้อมูลจาก MONEY LAB ระบุว่ามีมูลค่าราว 192,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1% ของมูลค่า GDP ประเทศไทย

สำหรับกรุงเทพมหานคร มีศักยภาพในการกลายเป็นหนึ่งในเมืองแห่งชีวิตราตรีระดับโลก ด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างเมืองที่คึกคัก ร่วมสมัย ไม่ติดกรอบวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ ปลอดภัย เข้าถึงได้ง่าย และมอบประสบการณ์ยามค่ำคืนที่ยอดเยี่ยมการจะบรรลุเป้าหมายนี้ต้องอาศัยการวางแผนแบบบูรณาการ การสร้างสถานที่และกิจกรรมกลางคืนที่น่าสนใจ การพัฒนาธุรกิจบริการและความบันเทิงให้ได้มาตรฐานระดับสากล ควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย และการพัฒนาโปรเจ็กต์สร้างสรรค์ยามค่ำคืนต่าง ๆ เช่น จุดแลนด์มาร์กแสงสี เสียง มัลติมีเดีย ตลาดนัดกลางคืน หรือเทศกาลศิลปะและดนตรี ล้วนมีส่วนช่วยสร้างเสน่ห์และภาพลักษณ์ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาตลอด 24 ชั่วโมง ดึงดูดนักท่องเที่ยวท้องถิ่นและชาวต่างชาติ

รัฐบาลไทยตระหนักถึงศักยภาพของเศรษฐกิจกลางคืนและพยายามส่งเสริมผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การอนุญาตให้สถานบริการในเขตสำคัญอย่างกรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และเกาะสมุย เปิดบริการได้ถึงตี 4 

อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของคนทำงานกลางคืน ทั้งเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และความพึงพอใจในการทำงานซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพการบริการ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเมือง 

อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือการรักษาจุดสมดุลของการบริโภคและความยั่งยืน การพิจารณาถึงผลกระทบทางสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจกลางคืน เป็นไปอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ